คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ในคำขอท้ายฟ้องมิได้อ้างมาตรา 57 และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ ซึ่งเป็นบทความผิดและบทลงโทษ โดยเฉพาะไม่อ้างบทความผิด ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) และเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 32, 33, 58 ริบของกลาง บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2339/2544 ขอบศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 7 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษข้อหานึ้ให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบของกลาง กับให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2339/2544 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่) แต่โทษปรับขั้นต่ำให้บังคับใช้มาตรา 91 เดิม และให้ลงโทษปรับ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตลอดระยะเวลาคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกส่วนโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจชัยยาและสิบตำรวจเอกมานิชพยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันว่าตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากในฐานพัดลมตั้งโต๊ะในบ้านเกิดเหตุซึ่งมีจำเลยทั้งสองอยู่ร่วมกันที่นั่น จึงจับกุมมาดำเนินคดี และในชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองรับสารภาพว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย โดยในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ว่า ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและปรากฏว่ามีร่องรอยการแก้ไขข้อความส่วนที่ 2 ให้การในบันทึกการจับกุม ซึ่งโจทก์ได้ฎีกาว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นเพียงการระบุข้อความที่ผิดพลาดนั้น เห็นว่า การแก้ไขข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งถึงการยอมรับหรือปฏิเสธต่อความผิดในทันทีทันใด หากเป็นการแก้ไขข้อความที่เขียนผิดพลาดจริง ก็ควรที่จะต้องใช้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อกำกับไว้เพื่อให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 รับสารภาพจริง ๆ แต่จ่าสิบตำรวจชัยยา พยานโจทก์ เพียงอ้างตอนตอบโจทก์ถามติงว่าได้อ่านให้จำเลยที่ 2 ฟังแล้ว ซึ่งก็เป็นการกล่าวอ้างฝ่ายเดียวและจำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวอยู่ จึงไม่อาจรับฟังได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนและเข้าจับกุมตรวจค้นตามหน้าที่ที่ได้สืบสวนทราบว่าที่บ้านนายเยี่ยมบิดาของจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเหตุที่หมายค้นระบุว่านายเยี่ยมก็เป็นการระบุรายละเอียดบางส่วนเพื่อประกอบในการขอหมายค้นเท่านั้น ทั้งจ่าสิบตำรวจชัยยาและสิบตำรวจเอกมานิชก็ได้เบิกความยืนยันว่าสืบสวนทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาก่อนด้วยนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองก็เป็นการกล่าวหาลอย ๆ ว่า สืบสวนทราบมาก่อนมิฉะนั้น ก็น่าที่จะล่อซื้อได้บ้าง แต่ก็ได้ความจากจ่าสิบตำรวจชัยยา และสิบตำรวจเอกมานิชว่าใช้ให้สายลับไปล่อซื้อแล้ว แต่ล่อซื้อไม่ได้ โดยสิบตำรวจเอกมานิชอ้างว่าเนื่องจากจำเลยทั้งสองทราบว่าสายลับเป็นสายให้ตำรวจ ซึ่งก็เป็นเพียงการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีสายลับมายืนยันให้น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นหมายค้นก็ไม่ปรากฏถึงจำเลยที่ 2 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อตามที่พยานโจทก์อ้างแต่อย่างใด คงระบุเฉพาะนายเยี่ยมเท่านั้น ทั้งเรื่องที่จำเลยที่ 2 เคยถูกจับกุมดำเนินคดีก็ได้ความตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2545 ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ขณะถูกตรวจค้นจับกุม จำเลยที่ 2 ก็นั่งอยู่กับจำเลยที่ 1 สามารถเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้ พัดลมที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็อยู่ใกล้ ๆ นั้น เห็นว่า ได้ความจากพยานโจทก์โดยเฉพาะจากสิบตำรวจเอกมานิชตอนตอบคำถามค้านว่า บ้านเกิดเหตุนั้นเป็นบ้านที่จำเลยที่ 2 มาดูมารดาซึ่งป่วยอยู่ และตามฎีกาของโจทก์ก็ระบุว่า บ้านของจำเลยที่ 2 อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเกิดเหตุด้วย จึงเป็นไปได้ตามจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ไปดูแลนางไสวมารดาซึ่งป่วยอยู่และนายเยี่ยมบิดาไม่อยู่บ้าน ขณะไปถึงก็พบจำเลยที่ 1 อยู่กับนางไสวอยู่แล้ว จึงไม่อาจเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งรวมทั้งการซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในพัดลมด้วย และจำเลยที่ 1 ก็รับว่านำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาให้นายเยี่ยมจำหน่าย ทั้งยังได้ความจากพันตำรวจโทสำเริงพนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านว่า ได้มีการออกหมายจับนายเยี่ยมมาดำเนินคดีแล้วด้วย เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้วยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้มาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแต่ในคำขอท้ายฟ้องมิได้อ้างมาตรา 57 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทความผิดและบทลงโทษ โดยเฉพาะไม่อ้างบทความผิด ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) และเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share