คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก. ยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ ที่ดินส่วนนี้จำเลยที่ 1 ใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อเชื่อมจากที่ดินจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก – เถิน (พหลโยธิน) ซึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนตั้งแต่ ก. แสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่กรณีที่ดินจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้ แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีโดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น หากจำเลยทั้งสองยังติดใจในประเด็นเรื่องทางภาระจำยอมอยู่ แม้จำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็ต้องยกขึ้นเป็นประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ตั้งประเด็นในเรื่องทางภาระจำยอมไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 20707 ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และปรับสภาพพื้นที่พิพาทให้ดีดังเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการก็ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยให้จำเลยทั้งสองออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 212,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพพื้นที่พิพาทให้ดีดังเดิม
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิใช้ถนนบนทางพิพาทซึ่งผ่านบนที่ดินโจทก์ผ่านจากสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากเข้าออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1665 ซึ่งนายโกชัยยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจนั้น มีการบันทึกรายละเอียดไว้ในสารบัญจดทะเบียนด้วย ที่ดินส่วนที่ได้รับยกให้นี้จำเลยที่ 1 จึงใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 เป็นต้นมา รูปที่ดินและเขตติดต่อดังระบุไว้ด้านหน้าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระบุว่า ที่ดินแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุนั้นเป็นแปลงคงเหลือ ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ นายโกชัยแบ่งแยกไปเป็นแปลงย่อยอีก 6 แปลงด้วยกัน แม้ที่ดินแปลงซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับยกให้และเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุอยู่ด้านในมีที่ดินแปลงอื่นกั้นขวางอยู่ก็มีการขีดเส้นเสมือนเป็นถนนเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อกับทางหลวงแผ่นดินสายตาก – เถิน (พหลโยธิน) ทางด้านทิศเหนือของรูปที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามที่นายโกชัยเจ้าของเดิมแบ่งแยกไว้ ด้านทิศใต้ของรูปที่ดินยังปรากฏเป็นแนวเส้นเสมือนเป็นถนนเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินสายตาก – เถิน (พหลโยธิน) กับทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตก ครั้นย้อนไปพิจารณาสารบัญจดทะเบียนก็ปรากฏรายการจดทะเบียนในเดือนมิถุนายน 2529 ว่า นายโกชัยเจ้าของเดิมแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ 2 รายการ คือที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา คงเหลือที่ดิน 5 ไร่ 97 ตารางวา รายการหนึ่ง กับหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ดิน 5 ไร่ 97 ตารางวา คงเหลือที่ดิน 5 ไร่ อีกรายการหนึ่ง ข้อเท็จจริงเช่นนี้บ่งชี้ชัดว่าที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากซึ่งมีเนื้อที่ 5 ไร่ มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เนื้อที่ 97 ตารางวา เพื่อเชื่อมจากที่ดินของจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก – เถิน (พหลโยธิน) เป็นทางสาธารณะไว้ก่อนแล้วตั้งแต่นายโกชัยแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง สอดคล้องกับเอกสารผังบริเวณสถานีวิทยุซึ่งมีการวาดเส้นขนานเป็นแนวถนนเชื่อมจากที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุสู่ถนนพหลโยธินด้วยเช่นกัน จึงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากมีทางออกสู่ถนนสาธารณะและถนนสาธารณะนั้นก็เชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินซึ่งเป็นทางสาธารณะด้วย จึงไม่ใช่กรณีที่ดินของจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้ การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า การใช้ถนนผ่านที่ดินของโจทก์เป็นทางจำเป็น แต่มิได้นำสืบว่าหากจะออกจากที่ดินแปลงซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุของจำเลยที่ 1 จะต้องข้ามที่ชันอันเป็นระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก โดยเส้นทางด้านทิศเหนือซึ่งหมายถึงทางสาธารณะกว้างประมาณ 4 เมตร รถยนต์สามารถแล่นได้ หลังจากขยายถนนพหลโยธินไม่สามารถนำรถยนต์ขึ้นได้เนื่องจากสูงชัน แสดงให้เห็นว่าการขยายถนนพหลโยธินโดยเพิ่มช่องเดินรถ น่าจะมีการปาดไหล่ทางออกด้วย ซึ่งทำให้ทางเข้าออกจากสถานีวิทยุสู่ถนนพหลโยธินมีความชันเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ทางผ่านที่ดินโจทก์เข้าออกสู่สถานีวิทยุแทน เช่นนี้แม้แสดงให้เห็นความสูงชันของจุดบรรจบระหว่างทางสาธารณะออกจากที่ดินซึ่งใช้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกับถนนพหลโยธินก็ตาม ไม่ถือว่าทางสาธารณะออกจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุมีความสูงชันกว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุของจำเลยที่ 1 อยู่มาก ดังนั้น แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินของจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน เมื่อทางพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองใช้ถนนผ่านที่ดินของโจทก์ไม่อาจเป็นทางจำเป็นตามกฎหมายไปได้ จำเลยทั้งสองอาจได้สิทธิใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินโจทก์เพียงเป็นทางภาระจำยอมเท่านั้น ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีโดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น หากจำเลยทั้งสองยังติดใจในประเด็นเรื่องทางภาระจำยอมอยู่ แม้จำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ แต่ก็ต้องยกขึ้นเป็นประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ตั้งประเด็นในเรื่องทางภาระจำยอมไว้จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 20707 ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และปรับพื้นที่พิพาทซึ่งใช้ก่อสร้างถนนให้เป็นดังเดิม ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 39,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าที่โจทก์ขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินพิพาทในอัตราเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพพื้นที่พิพาทให้เป็นดังเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์กำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share