คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ อันเป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะ หาได้มีผลต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาด ก็มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 59 (2) ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วย
การโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้เป็นการโอนอันเนื่องมาจากการรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงิน ระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้โจทก์รับโอนกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้ กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี วรรคสอง ที่บัญญัติยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ.
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวใช้สิทธิขอรับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ลดลงตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 26,500,482.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงินต้น 26,500,482.90 บาท โดยคำนวณแบบทบต้นต่อไปทุกปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีฟื้นฟูกิจการเต็มจำนวนหนี้แล้ว จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยที่ 4 โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งต่อมามีพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กันยายน 2544 ขอให้ศาลจำหน่ายคดีตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 20,004,931.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.25 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 คิดดอกเบี้ยได้เท่าใดให้นำทบกับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของเงินที่ทบเข้ากันนั้นต่อไปจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542) หลังวันฟ้องให้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ต้องไม่เกิน เอ็ม.แอล.อาร์ ตามประกาศของโจทก์บวกร้อยละ 4.5 ต่อปี และไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดตามประกาศของโจทก์และที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อแรกที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความ เพราะศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้น และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเด็ดขาด จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ย่อมได้รับผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (2) ชอบที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ เป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจให้ดำเนินกิจการได้ต่อไป อันเป็นเรื่องที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะ จึงหาได้มีผลกระทบต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เด็ดขาดก็มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามวิธีที่การที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นการเฉพาะแต่การจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (2) ที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วย แม้โจทก์จะไม่คัดค้านคำร้องขอให้จำหน่ายคดีชั่วคราวของจำเลยที่ 4 ก็หาได้เป็นการผูกมัดศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 และถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 4 ดังที่จำเลยที่ 4 อ้างแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้บอกกล่าวแจ้งการโอนแก่จำเลยทั้งสี่นั้น เห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนอันเนื่องจากการรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงิน ระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) (โจทก์) กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) โจทก์รับโอนกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนั้น กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี วรรคสอง ที่บัญญัติยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การโอนสิทธิเรียกของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อต่อไปว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะพ้นความรับผิดไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90 / 60 วรรคสอง จำเลยที่ 4 ยอมผูกพันตนต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ย่อมเกิดมีขึ้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ได้แต่เวลานั้น จำเลยที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680, 686 และ 698 การที่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ลดลงตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น ทั้งคดีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วหรือไม่เพียงใด การที่ศาลล่างทั้งสองไม่พิพากษาให้นำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระมาหักจากมูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ทั้งหมดตามหนังสือขอให้ชำระหนี้เป็นการบอกเลิกสัญญาต่อกันมีผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่า การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนี้อหาระบุไว้เพียงว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา และเมื่อคำฟ้องโจทก์ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วปรากฏว่าหลังจากจำเลยได้รับเงินกู้ไปแล้วก็ไม่ชำระหนี้ตามจำนวนเงินและเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา คงชำระหนี้เพียงบางส่วน และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2540 เป็นวันที่หักทอนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นวันที่โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 เริ่มผิดสัญญาตามที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างในฎีกา ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ที่ว่าดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่จะนำมาทบต้นได้ต้องเป็นดอกเบี้ยที่ค้างตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นวันทำการสุดท้ายของเดือนเป็นต้นไปจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share