แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 10 ปี ซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ศาลก็ย่อมพิพากษาได้โดยมิต้องฟังพยานโจทก์ต่อไป แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพเสมอไป ในเมื่อปรากฏตามหลักฐานในสำนวนขัดแย้งกับคำรับของจำเลย
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ตามใบชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลว่า รักษาในโรงพยาบาล 8 วันทุเลาอีกประมาณ 14 วันหาย รวมเป็น 22 วัน ข้อว่าไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติเกิน20 วันนั้นเป็นข้อเท็จจริง ในวันที่จำเลยมาให้การรับสารภาพต่อศาลก็เป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษจากวันที่ทำร้ายกัน จำเลยย่อมทราบความข้อนี้ดีโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานอะไรอีก ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องรู้และวินิจฉัยถึงว่าผู้บาดเจ็บมีอาชีพอะไร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันโดยจำเลยที่ 1 ทำร้ายจำเลยที่ 2 มีบาดเจ็บสาหัส ดังปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง จำเลยที่ 2 ทำร้ายจำเลยที่ 1 ไม่ถึงบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษ จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 256, 59 จำเลยที่ 2 ผิด ตามมาตรา 335(14), 59 จำคุกจำเลยที่ 1 หนึ่งปีจำเลยที่ 2 ปรับ 15 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าตามรายงานบาดแผล ๆ ของจำเลยที่ 2 ไม่สาหัส ศาลอุทธรณ์แก้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดตามมาตรา 254 จำคุก 6 เดือน นอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 10 ปีซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว ศาลก็ย่อมพิพากษาได้ โดยมิต้องฟังพยานโจทก์ต่อไป จริงอยู่ศาลย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพเสมอไป ในเมื่อปรากฏตามหลักฐานในสำนวนขัดแย้งกับคำรับของจำเลย คดีนี้ตามรายงานชันสูตรบาดแผลของจำเลยที่ 2 ว่ารักษาในโรงพยาบาล 8 วันทุเลา อีกประมาณ 14 วันหาย ซึ่งรวมกันเป็น 22 วัน ดังนี้หาขัดแย้งต่อคำรับของจำเลยไม่ข้อที่ว่าไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติเกิน 20 วัน นั้นเป็นข้อเท็จจริง ในวันที่จำเลยมาให้การรับสารภาพต่อศาลเป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษจากวันที่ทำร้ายกัน จำเลยย่อมทราบความข้อนี้ได้ดี โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอะไรอีก ข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ผู้บาดเจ็บมีอาชีพอะไรไม่ปรากฏนั้นเห็นว่าไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องรู้และต้องวินิจฉัยอีก เพราะจำเลยที่ 1 รับรองในข้อเท็จจริงนี้แล้ว
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น