แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้ ส. และได้โอนที่ดินพิพาทใช้หนี้เงินกู้ต่ำกว่าราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินในเวลาและสถานที่ส่งมอบ ทำให้การโอนตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ส. ตกลงจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง จึงมีการถอนฟ้อง แต่ ส. กลับโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์รับโอนไว้โดยไม่สุจริจ ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 17 และมาตรา 25 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7191 ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา เมื่อประมาณวันที่ 13 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2550 จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยบริวารได้ร่วมกันบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองทำนาในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทั้งแปลง ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำนาได้ หากโจทก์นำที่ดินพิพาทให้ผู้อื่นเช่า จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้นางหรือนางสาวสิรินยา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 นางหรือนางสาวสิรินยาได้โอนที่ดินพิพาทใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบ การโอนที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องนางหรือนางสาวสิรินยาขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทต่อศาลแขวงอุบลราชธานีและได้มีการถอนฟ้อง โดยตกลงกันว่า นางหรือนางสาวสิรินยาจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 หาเงินค่าฤชาธรรมเนียมเพื่อโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา นางหรือนางสาวสิรินยาได้สมคบกับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์เป็นญาติฝ่ายสามีของนางหรือนางสาวสิรินยารู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ที่ได้มาในระหว่างสมรส และรู้ว่านางหรือนางสาวสิรินยาได้ที่ดินพิพาทอันเนื่องมาจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะและอยู่ระหว่างจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องโจทก์และนางหรือนางสาวสิรินยาเป็นจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานีในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องที่ดินและเพิกถอนนิติกรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7191 ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 20,000 บาท นับจากวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด จำเลยทั้งสองให้การสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้นางหรือนางสาวสิรินยาและได้โอนที่ดินพิพาทใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดแห่งทรัพย์สินในเวลาและสถานที่ส่งมอบ ทำให้การโอนตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท นางหรือนางสาวสิรินยาตกลงจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง จึงมีการถอนฟ้อง แต่นางหรือนางสาวสิรินยากลับโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 17 และมาตรา 25 (4) อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ