คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่
การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบกระสุนปืนเล็กกล แบบ 08 ขนาด 5.56 มิลลิเมตร 1,815,524 นัด และกระสุนที่ใช้ทดสอบ 1,816 นัด รวม 1,817,340 นัด ที่ได้มาตรฐานของทางราชการเลขที่ 0018 – 47 ให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 11,056,541.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 395,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 552,828 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 11,056,541.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระเงิน 552,828 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายกระสุนปืนเล็กกล ข้อ 7 มีการตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับประกันความชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องของสิ่งของตามสัญญาเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบ โดยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หากสิ่งของตามสัญญานี้เกิดชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องอันเนื่องจากการใช้งานตามปกติ จำเลยที่ 1 จะต้องจัดการซ่อมแซมหรือแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังเดิมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นและโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ให้เห็นว่าหลังจากโจทก์ใช้กระสุนปืนเล็กกลที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ในการแข่งขันยิงปืนแล้วทำให้อาวุธปืน เอ็ม 16 ที่ใช้กระสุนปืนดังกล่าวเกิดความเสียหาย จากนั้นมีการตรวจสอบหาสาเหตุพบว่ากระสุนปืนเล็กกลที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนนั้นเสียหาย โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวโดยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วัน ตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกันรับผิดฐานผิดสัญญาซื้อขายกระสุนปืนเล็กกลดังกล่าวหาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและอ้างมาในฎีกาไม่ การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดตามหนังสือค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ระบุว่าวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาต่อโจทก์โดยยอมผูกพันตนเช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่เกินวงเงิน 552,828 บาท ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาดังกล่าว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายจนถึงวันที่ภาระหน้าที่ทั้งหลายของจำเลยที่ 1 จะได้ปฏิบัติให้ลุล่วงไปเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายและต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมผูกพันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 552,828 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share