แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกู้เงินโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท โดยมอบเช็คสั่งจ่ายเงินสดจำนวน 80,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน และมอบโฉนดให้โจทก์ไว้เป็นประกันอีกด้วย การที่โจทก์ไม่นำสัญญากู้ยืมมาฟ้อง หากแต่ฟ้องเรียกเงินตามเช็คนั้น เป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์เห็นว่าการดำเนินคดีในเรื่องเช็คเป็นความสะดวกและดีกว่า โจทก์ย่อมทำได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราเป็นผิดกฎหมาย จำเลยเรียกคืนไม่ได้ หักกับเงินที่ค้างชำระก็ไม่ได้
จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดไว้ในคำให้การรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นด้วยว่า ฟ้องของโจทก์ตอนไหนที่เคลือบคลุม จำเลยไม่เข้าใจอย่างไร จำเลยอ้างแต่เพียงว่าเคลือบคลุมโดยไม่ชี้แจงรายละเอียด จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คจำนวน 80,000 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยให้การตัดฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดไว้ในคำให้การของจำเลย รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นด้วยว่าฟ้องของโจทก์ตอนไหนที่เคลือบคลุม จำเลยไม่เข้าใจอย่างไร จำเลยอ้างแต่เพียงแต่ว่าเคลือบคลุมเฉย ๆ แต่ไม่ชี้แจงในรายละเอียด ข้อตัดฟ้องของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 2 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเปลี่ยนเช็คฉบับเดิมที่ใช้เป็นประกันเงินกู้ ดังนั้นเช็คฉบับพิพาทจึงมีฐานะอย่างเดียวกับเช็คฉบับเดิมเมื่อเป็นเช็คค้ำประกันจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์ลงวัน เดือน ปีในเช็คไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เช็คเป็นหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน และสามารถโอนส่งมอบกันได้โดยกฎหมายยอมรับรู้ การที่จำเลยกู้เงินโจทก์และได้มอบเช็คพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้ เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์ไว้โดยโจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วและจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ ก็ให้โจทก์นำเช็คที่จำเลยมอบนั้นไปลงวันที่สั่งจ่ายเอาเองไปขึ้นเงินเอาเองได้ หากว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้โจทก์ลงวันที่สั่งจ่าย จำเลยก็น่าจะเป็นผู้ลงวันสั่งจ่ายเสียเองไม่น่าที่จะเว้นไว้ และการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ก็ได้บัญญัติให้ผู้ทรงผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นผู้ลงได้ จำเลยมิได้เถียงว่าวัน เดือน ปีที่สามีโจทก์ลงไว้ไม่ใช่วันที่ถูกต้องแท้จริง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงในข้อนี้ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์มีสัญญากู้และโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานค้ำประกันอยู่แล้วและเป็นหลักฐานมั่นคงดีกว่าเช็ค การที่โจทก์เอาเรื่องเช็คมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์เห็นว่าการดำเนินคดีในเรื่องเช็คเป็นความสะดวกและดีกว่า โจทก์ก็ย่อมทำได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 19,200 บาทแต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเงินที่ชำระไปนี้เป็นค่าดอกเบี้ย ไม่ใช่ชำระเป็นค่าเงินต้นจึงเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วปัญหาว่าเงิน 19,200 บาทที่จำเลยชำระให้โจทก์นั้น จำเลยตกลงชำระให้โจทก์เป็นค่าดอกเบี้ยหรือชำระต้นเงิน พยานหลักฐานโจทก์มีตัวโจทก์และสามีโจทก์เบิกความต้องกันว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจำนวน 80,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจำเลยกู้เงินโจทก์มีกำหนด 3 เดือน หักดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้ 3,000 บาท โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยไปเพียง 77,000 บาท เมื่อครบกำหนดกู้แล้วจำเลยยอมคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ 4 ต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 3,200 บาท ฝ่ายจำเลยอ้างว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 65,000 บาท โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้า15,000 บาท จำเลยเอาดอกเบี้ยรวมกับต้นเงิน 65,000 บาท เป็น 80,000บาท และลงในสัญญากู้ว่ากู้เงิน 80,000 บาท แต่รับเงินมาจริง ๆ เพียง65,000 บาทเท่านั้น หลังจากที่สัญญากู้ครบกำหนดแล้ว ในวันที่ 4 พฤษภาคม2519 จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ล.4 รวมเป็นเงิน3,200 บาท ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 ก็ได้จ่ายอีก 3,200 บาท ตามเอกสารหมาย ล.5 และตามเอกสารหมาย ล.6 จ่าย 6,400 บาท เอกสาร ล.7จ่ายอีกรวม 6,400 บาท โดยแยกเป็นยอดของเงินเดือนกันยายน 3,200 บาทเดือนตุลาคม 3,200 บาท และตามเอกสารหมาย ล.8 ระบุว่าเป็นค่าดอกเบี้ย500 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์นี้ โจทก์ว่าจำเลยให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ร้อยละ 4 ต่อเดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ตกเป็นเงินเดือนละ 3,200 บาท เงินตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8ที่จำเลยอ้างมานี้ จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยทั้งสิ้น แต่เป็นดอกเบี้ยที่เกินอัตราตามกฎหมาย เมื่อเป็นดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและจำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะเอาคืนได้ ฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเอามาหักเงินที่ยังค้างชำระ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า หนี้รายนี้จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินให้โจทก์นั้น จึงชอบด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงแล้ว”
พิพากษายืน