คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4216/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นหัวหน้าฝ่ายการคลังของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของทางราชการโดยไม่ส่งมอบเงินที่เหลือจ่ายให้แก่คณะกรรมการเก็บรักษาเงิน เพื่อให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่โจทก์ได้จัดไว้ให้ซึ่งมีลูกกุญแจ 3 ดอก แต่กลับนำเข้าเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่มีลูกกุญแจดอกเดียว ทั้งยังนำลูกกุญแจตู้นิรภัยดังกล่าวไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 เมื่อมีคนร้ายมางัดโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 และนำลูกกุญแจตู้นิรภัยไปไขตู้นิรภัยลักเอาเงินที่เก็บรักษาไว้ไปได้ ถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นโดยตรงจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุในเรื่องหัวหน้าส่วนราชการไม่ทักท้วงสั่งการแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดระเบียบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินให้ถูกต้องมาเป็นเหตุว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้วไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่เป็นข้าราชการฝ่ายการคลังของโจทก์กระทำละเมิดเป็นเหตุให้คนร้ายลักเงินไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน170,571.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ต่อสู้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นมิใช่การละเมิดของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน จำนวน 170,571.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องจำเลยอื่น จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการคลัง สำนักงานเลขานุการ กรมอัยการโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโจทก์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ไปรับเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาจ่ายให้ข้าราชการบำนาญของโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินบำนาญและเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการบำนาญที่ค้างจ่ายในวันนั้นรวมเป็นเงิน 170,571.40 บาท ไปเก็บไว้ในตู้นิรภัยใบที่มีลูกกุญแจดอกเดียวในห้องทำงานของจำเลยที่ 1แล้วนำลูกกุญแจตู้นิรภัยดอกเดียวนั้นเก็บไว้ในโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 โดยใส่กุญแจลิ้นชักโต๊ะทำงานไว้แล้วนำลูกกุญแจลิ้นชักโต๊ะทำงานติดตัวกลับบ้านตอนเลิกงานเย็นวันนั้นในคืนนั้นเองมีคนร้ายเข้าไปงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1นำลูกกุญแจตู้นิรภัยดอกเดียวไปไขตู้นิรภัยเอาเงินจำนวนดังกล่าวที่เก็บไว้ไป ปัญหามีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินบำนาญและเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการบำนาญที่ค้างจ่ายรวมเป็นเงิน 170,571.40 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาไว้ เงินจำนวนดังกล่าวจึงอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1ซึ่งมีหน้าที่จะต้องดูแลรับผิดชอบแต่ผู้เดียว หากจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ ข้อ 59 ที่ว่า “เมื่อสิ้นเวลารับจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่การเงินนำเงินที่จะเก็บรักษาและรายงานเงินคงเหลือประจำวันส่งมอบต่อคณะกรรมการเก็บรักษาเงิน ฯลฯ” เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่สูญหายไป แต่จำเลยที่ 1 กลับปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ โดยไม่ส่งมอบเงินให้แก่กรรมการรักษาเงินเพื่อให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่โจทก์ได้จัดไว้ ซึ่งมีกุญแจ 3 ดอกและจำเลยที่ 1 ได้นำเงินที่เหลือจ่ายดังกล่าวเข้าเก็บไว้ในตู้นิรภัยซึ่งมีกุญแจดอกเดียวกับทั้งยังนำลูกกุญแจตู้นิรภัยดังกล่าวไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ประมาทปราศจากความระมัดระวังในการเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยซึ่งจะต้องเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ เพราะอย่างน้อยจำเลยที่ 1 ต้องทราบดีว่าโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะใช้เป็นที่เก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยให้มีความปลอดภัยอาจถูกคนร้ายเข้ามางัดลิ้นชักโต๊ะทำงานนำลูกกุญแจนิรภัยไปไขตู้นิรภัยซึ่งอยู่ใกล้โต๊ะทำงานเอาเงินไป และด้วยเหตุจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เมื่อมีคนร้ายมางัดโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 คนร้ายจึงสามารถนำลูกกุญแจตู้นิรภัยไปไขตู้นิรภัยลักเอาเงินที่เก็บรักษาไว้ไปถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นโดยตรงจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบข้อบังคับของทางราชการนับแต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินจำนวนที่สูญหายมอบให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินเป็นผู้เก็บรักษาไว้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยดีแล้ว ถ้าหากจำเลยที่ 1 นำลูกกุญแจตู้นิรภัยกลับบ้านไปด้วยก็อาจถูกคนร้ายชิงทรัพย์และลูกกุญแจอาจสูญหาย ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 มาก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงนำลูกกุญแจตู้นิรภัยเก็บซ่อนไว้ในลิ้นชักโดยได้ใส่กุญแจโต๊ะไว้อีกชั้นหนึ่งนอกจากนี้โต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 อยู่ในห้องทำงาน ของฝ่ายการคลังมีเวรยามรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อเลิกงานประตูห้องทำงานก็จะปิดใส่กุญแจไว้นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 1ไม่อาจรับฟังได้เพราะการเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จำเลยที่ 1 จะอาศัยเวรยามซึ่งมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั่วไปมาอ้างไม่ได้ นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นว่าถ้าจำเลยที่ 1 นำลูกกุญแจตู้นิรภัยติดตัวไปด้วยแม้จะถูกคนร้ายชิงทรัพย์ขณะเดินทาง เงินที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยก็คงอยู่ครบถ้วนไม่สูญหายไปด้วย ส่วนที่อ้างว่าคนร้ายอาจจะนำลูกกุญแจตู้นิรภัยไปเปิดตู้นิรภัยในห้องทำงานของฝ่ายการคลังได้นั้น ก็ไม่อาจเป็นไปได้เพราะคนร้ายไม่ทราบถึงเรื่องเงินที่จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ แต่ถ้าหากเป็นคนร้ายภายในซึ่งทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 คนร้ายนั้นต้องใช้เวลาในการนำลูกกุญแจดังกล่าวไปเปิดตู้นิรภัย ทำให้จำเลยที่ 1มีเวลาที่จะหาทางป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายขึ้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ในการเก็บรักษาเงินไว้เช่นเดียวกับหัวหน้าฝ่ายการคลังคนก่อน ๆ ที่ให้มีการปฏิบัติหลังเวลาปิดบัญชีแล้วหากมีเงินเหลือจ่ายก็ให้ตัดออกจากบัญชีทั้งหมดโดยถือว่ามีผู้รับไปหมดแล้ว เพื่อความสะดวกแก่ข้าราชการบำนาญที่มาขอรับเงินภายหลังเวลาปิดบัญชีแล้ว กับเพื่อไม่ให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการคลัง โดยหัวหน้าฝ่ายการคลังคนก่อน ๆ จะนำเงินที่เหลือจ่ายประจำวันไปเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่มีกุญแจดอกเดียวและถือลูกกุญแจไว้ และถ้าหากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหัวหน้าส่วนราชการเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการพ.ศ. 2520 ก็จะต้องสั่งการแก้ไขให้ปฏิบัติให้ถูกต้องเมื่อไม่มีการทักท้วงหรือสั่งการใด ๆ จึงถือว่าจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้วนั้น เห็นว่า หากมีการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายการคลังคนก่อนดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น หัวหน้าฝ่ายการคลังผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกัน ส่วนในเรื่องที่หัวหน้าส่วนราชการไม่ทักท้วงสั่งการแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดระเบียบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการคลังให้เป็นไปโดยถูกต้องตาม ข้อ 72 ของระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 จะอ้างมาเป็นเหตุว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้วไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 131/2496, 280/2520, 1996/2523และ 3109-3110/2527 ที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงแตกต่างกับคดีนี้ จึงจะนำมาเปรียบเทียบกันหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share