คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดลำดับที่2ถึง37ซึ่งมีราคาประเมินรวมกัน78,150บาทแต่มิได้คัดค้านการอายัดเงินจำนวน70,000บาทที่เทศบาลเมืองพะเยาจะต้องจ่ายให้แก่ร้านของผู้ร้องการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยถึงจำนวนเงินที่อายัดด้วยนั้นจึงเป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอันเป็นการมิชอบแม้ผู้ร้องจะได้เสียค่าขึ้นศาลในจำนวนเงินที่อายัดมาด้วยในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงขึ้นมาก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองจึงต้องถือว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียงจำนวน78,150บาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้การที่จำเลยยังคงอยู่อาศัยกับผู้ร้องก็เนื่องจากเพื่อมิให้มารดาของผู้ร้องผิดสังเกตทั้งมีข้อตกลงกันว่าจำเลยเคยมาพักอาศัยอยู่กับผู้ร้องอย่างใดก็ให้เป็นไปเช่นนั้นและจำเลยเคยออกใบเสร็จรับเงินแทนผู้ร้องอย่างใดก็ให้คงทำเช่นนั้นต่อไปโจทก์จึงไม่มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์นั้นฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันโดยเจตนาลวงซึ่งแท้จริงแล้วผู้ร้องกับจำเลยยังอยู่กินฉันสามีภรรยากันทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ของผู้ร้องกับจำเลยที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภรรยาจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้ารวม 36 รายการ ตามบัญชีทรัพย์แนบท้ายบันทึกการยึดทรัพย์ ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2536 ลำดับที่ 2 ถึง 37โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย และอายัดเงิน 70,000 บาท ที่เทศบาลเมืองพะเยาจะต้องให้แก่ร้านพิสิษฐ์การไฟฟ้า ซึ่งภริยาจำเลยจะขอรับเงินเป็นค่าซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดลำดับที่ 2 ถึง 37ราคาประเมินรวมกัน 78,150 บาท เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง จำเลยกับผู้ร้องเคยเป็นสามีภริยากัน แต่ได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 ทรัพย์พิพาทจึงมิใช่ของจำเลยขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึดและคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภรรยากัน หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ที่จำเลยนำเช็คมาแลกเงินจากโจทก์ไปใช้ในกิจการค้าขายของจำเลยกับผู้ร้อง ซึ่งใช้ชื่อร้านว่า พิสิษฐ์การไฟฟ้า จำเลยกับผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่ยึดร่วมกัน การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวงเท่านั้นมิได้ประสงค์จะหย่ากันจริง ปัจจุบันผู้ร้องกับจำเลยยังประกอบกิจการค้าร่วมกัน แม้จะฟังได้ว่าผู้ร้องกับจำเลยจะหย่าขาดกันจริง แต่ทรัพย์สินของผู้ร้องกับจำเลยยังเป็นกรรมสิทธิ์รวมในฐานะหุ้นส่วนผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด แต่ชอบที่จะร้องขอกันส่วน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ให้ยก คำร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ตามคำร้องของผู้ร้อง ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดลำดับที่ 2 ถึง 37 ตามบัญชีทรัพย์แนบท้ายบันทึกการทรัพย์ยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 7 สิงหาคม 2536ซึ่งมีราคาประเมินรวมกัน 78,150 บาท แต่มิได้คัดค้านการอายัดเงินจำนวน 70,000 บาท ที่เทศบาลเมืองพะเยา จะต้องจ่ายให้แก่ร้านพิสิษฐ์การไฟฟ้าของผู้ร้อง การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยถึงจำนวนเงินที่อายัดด้วยนั้น จึงเป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด อันเป็นการมิชอบ แม้ผู้ร้องจะได้เสียค่าขึ้นศาลในจำนวนเงินที่อายัดมาด้วยในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ทั้งได้อุทธรณ์ ฎีกาโต้เถียงขึ้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองจึงต้องถือว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียงจำนวน 78,150 บาทสำหรับฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ การที่จำเลยยังคงอยู่อาศัยกับผู้ร้อง ก็เนื่องจากเพื่อมิให้มารดาของผู้ร้องผิดสังเกตทั้งมีข้อตกลงกันว่าจำเลยเคยมาพักอาศัยอยู่กับผู้ร้องอย่างใดก็ให้เป็นไปเช่นนั้น และจำเลยเคยออกใบเสร็จรับเงินแทนผู้ร้องอย่างใดก็ให้คงทำเช่นนั้นต่อไปโจทก์จึงไม่มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์นั้น ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ฟังว่าผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันโดยเจตนาลวง ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ร้องกับจำเลยยังอยู่กินฉันสามีภริยากันทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ของผู้ร้องกับจำเลยที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฎว่าคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีจำนวน 78,150 บาท ซึ่งไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดและชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ผู้ร้องเสียเกินมาในจำนวนทุนทรัพย์70,000 บาท แก่ผู้ร้อง

Share