คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ฯ(ฉบับที่ 28)พ.ศ.2511 และ (ฉบับที่ 57) พ.ศ.2518 นำคำว่า “นอกจากมันเนย” ไปต่อท้ายคำว่า “เนย” แสดงว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากรถือว่า “เนย” มีความหมายถึง “มันเนย” ด้วย จึงกำหนดข้อยกเว้นไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ประสงค์จะเก็บภาษีการค้าสำหรับมันเนยในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายรับ ฉะนั้นโจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่43) พ.ศ.2516 ซึ่งไม่ได้กำหนดยกเว้นสำหรับสินค้ามันเนยไว้บังคับ โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 7 ของรายรับ
โจทก์ผู้นำเข้ามีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์ยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีไม่ถูกต้องหรือผิดพลาด ทำให้จำนวนที่ต้องเสียภาษีคลาดเคลื่อน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจเรียก ให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89, 89 ทวิ
การที่โจทก์เสียภาษีนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าแล้ว มิได้หมายความว่าโจทก์ได้ชำระภาษีการค้าตามใบแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินในภายหลังว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง โจทก์ก็หาพ้นจากหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสียภาษีการค้าอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีเทศบาล รวมเป็นเงิน๑๐๗,๔๗๒.๓๓ บาท โดยอ้างว่าโจทก์ชำระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับไม่ถูกต้องโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับตามบัญชี ๑หมวด ๑(๓) ท้าย พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๔๓) พ.ศ. ๒๕๑๖ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้พิจารณาและวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์บางส่วน โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยทั้ง ๔ ไม่ถูกต้องเพราะมันเนยไม่ใช่เนย เนยแข็ง หรือเนยเทียมอันเป็นสินค้าตามบัญชี ที่ ๑ หมวด ๑(๓) นอกจากนี้จำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์เสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับเพราะโจทก์เสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรตามอัตราที่จำเลยที่ ๑ ร่วมกับกรมศุลกากรจัดพิมพ์ขึ้นให้เสียในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ และเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบถูกต้องแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ๒๕๑๗ อันเป็นเวลาที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๔๓) พ.ศ. ๒๕๑๖ ใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มิได้ยกเว้นมันเนยให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๑.๕ ดังเช่นฉบับที่ ๒๘ และฉบับที่ ๕๗ โจทก์จึงต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับเนยเพราะมันเนยก็คือเนย แม้โจทก์นำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรแล้วเมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจเรียกเก็บให้ถูกต้อง การประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ๒๕๑๗ โจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยโจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ ปัญหาว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับมันเนยในอัตราร้อยละ๑.๕ หรือ ร้อยละ ๗ ของรายรับ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะ ๒ หมวด ๔ ประเภทการค้า ๑ การขายของชนิด (ก) ระบุว่า ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับ ดังนั้นโดยปกติโจทก์จะต้องเสียภาษีในอัตราดังกล่าวเว้นแต่จะมีพระราชกฤษฎีกายกเว้นหรือลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าชนิดนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างที่โจทก์นำมันเนยเข้ามาในราชอาณาจักร มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นและลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ๔๓) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๙ บัญญัติให้สินค้าที่มิได้ระบุไว้ในบัญชีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เฉพาะที่นำเข้าราชอาณาจักรเสียภาษีการค้าร้อยละ ๑.๕ ของรายรับและตามบัญชีที่ ๑ หมวด ๑(๓) ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ได้ระบุถึงเนย เนยแข็ง เนยเทียม ฯลฯ มีปัญหาว่าคำว่า “เนย” จะมีความหมายรวมถึงมันเนยด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ความหมายของคำว่า เนย ไว้ว่าคือ น้ำมันที่ทำจากน้ำนมสัตว์มีทั้งข้นและแข็ง ฉะนั้นตามพจนานุกรมนี้ทั้งเนยและมันเนยก็คือน้ำมันที่ทำจากน้ำนมสัตว์ ประกอบกับต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๕๗) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของหมวด ๑ ในบัญชีที่ ๑ แห่งบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า ” (๓) ผงชูรสผลิตภัณฑ์ชงดื่ม ครีม เนยแข็ง เนยเทียม เนยนอก จากมันเนย” และมีบันทึกเหตุผลในการออกพระราชกฤษฎีกานี้ไว้ตอนท้ายว่า เพื่อลดอัตราภาษีการค้าสำหรับสินค้ามันเนยจากร้อยละ ๗ ของรายรับลงเหลือ ๑.๕ ของรายรับ ทั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็เคยออกพระราชกฤษฎีกาทำนองนี้มาครั้งหนึ่ง คือพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๔ การที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๑๑ และ (ฉบับที่ ๕๗) พ.ศ. ๒๕๑๘ นำคำว่า “นอกจากมันเนย” ไปต่อท้ายคำว่า “เนย” แสดงว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากรถือว่า เนยมีความหมายถึงมันเนยด้วย จึงกำหนดข้อยกเว้นไว้ในพระราชกฤษฎีกา เมื่อประสงค์จะเก็บภาษีการค้าสำหรับมันเนยในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ ฉะนั้นโจทก์นำสินค้ามันเนยเข้ามาในราชอาณาจักรช่วงเวลาที่ใช้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ ๔๓) พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งไม่ได้กำหนดยกเว้นสำหรับสินค้ามันเนยไว้บังคับ โจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับสินค้ามันเนยร้อยละ ๗ ของรายรับ หาใช่ร้อยละ ๑.๕ ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
โจทก์ผู้นำเข้ามีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์ยื่นแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจเรียกให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๙, ๘๙ ทวิ การที่โจทก์เสียภาษีนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร โดยแจ้งสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าแล้ว ก็มิได้หมายความว่าโจทก์ได้ชำระภาษีการค้าตามใบแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินในภายหลังว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง โจทก์หาพ้นจากหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายไม่
พิพากษายืน

Share