คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลจังหวัดกาญจนบุรีฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุกระทำผิดฐานรับของโจรเกิดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหารับของโจรระบุว่า เหตุเกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีดังกล่าว ดังนั้นแม้มีการจับจำเลยและยึดของกลางทั้งสองสำนวนไว้ในคราวเดียวกัน และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยรับทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีนั้นไว้มาคราวเดียวกันหรือรับมาเมื่อใด แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ไว้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีก่อนจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2528 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันเข้าไปในบริเวณกุฏิ อันเป็นเคหสถานของพระครูพิศาลพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดดงขี้เหล็ก ลักเอาพระพุทธรูปบูชาเนื้อทองเหลืองปางมารวิชัย สมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 25 นิ้ว จำนวน 1 องค์ ราคา 50,000 บท อันเป็นที่สักการบูชาของประชาชนของวัดดงขี้เหล็ก ผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ รับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการบูชาของประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3000/2547 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำพิพากษาเอกสารแนบท้ายฎีกาว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3000/2547 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยในคดีนั้นว่า เหตุกระทำผิดฐานรับของโจรในคดีดังกล่าวเกิดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหารับของโจรระบุว่า เหตุเกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีดังกล่าว ดังนั้นแม้ร้อยตำรวจเอกธณกร จับจำเลยและยึดของกลางทั้งสองสำนวนไว้ในคราวเดียวกัน และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยรับทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีนั้นไว้มาคราวเดียวกันหรือรับมาเมื่อใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ไว้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมา การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3000/2547 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share