คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จ้าง ส. ออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทแทนบริษัท ฟ. เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจึงมีสิทธิในเครื่องหมายบริการพิพาท แม้โจทก์จะเป็นผู้คิดค้นคำว่า LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า แต่เป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัท ฟ. และการจ้างออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทก็เป็นการกระทำแทนบริษัท ฟ. บริษัท ฟ. จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการพิพาทที่แท้จริง การที่ ป. ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาทและต่อมาโอนให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมกับพวกนำเครื่องหมายบริการพิพาทไปขอจดทะเบียนแล้วโอนมาเป็นของโจทก์เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการมีลักษณะเป็นรูปและคำ (สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า) LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า ในบริการจำพวก 42 รายการบริการ บริการอาหารและเครื่องดื่ม เดิมจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ประกอบกิจการประเภทบริการอาหารและเครื่องดื่มในนามของบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ที่จำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมอยู่ด้วยภายใต้เครื่องหมายบริการของโจทก์คือ (สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า) อ่านว่า ลา เฟียสต้า ตั้งอยู่เลขที่ 109-111 ถนนพัฒน์พงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 โดยจำเลยที่ 2 กับบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ได้ร่วมกันละเมิดเครื่องหมายบริการของโจทก์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนกันยายน 2543 จำเลยที่ 2 กับบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ยังคงละเมิดเครื่องหมายบริการของโจทก์ โจทก์จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมดำเนินคดีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 901/2543 และโจทก์ได้ฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ทป.119/2544 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดเครื่องหมายบริการ (สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า) ลา เฟียสต้า โดยการจำหน่าย เสนอจำหน่ายและให้บริการภายใต้เครื่องหมายบริการของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท และขอคิดค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 20 วัน โดยจำเลยทั้งสองประกอบกิจการ มีรายได้สุทธิต่อวันไม่น้อยกว่า 40,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ของยอดจำหน่ายสุทธิ คิดเป็นค่าเสียหาย 80,000 บาท และโจทก์ขอคิดค่าเสียหายอีกวันละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและร่วมกันชำระค่าเสียหายวันละ 4,000 บาท จนกว่าจะยุติการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์อีกต่อไป โดยขอให้เก็บ ทำลาย หรือไม่ทำให้ปรากฏซึ่งเครื่องหมายบริการของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายบริการเนื่องจากประมาณปี 2537 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาประมาณปี 2541 บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปได้เปิดกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ได้ว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบเครื่องหมายบริการในลักษณะรูปและคำ LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า เพื่อใช้ติดป้ายหน้าร้านและตามบริเวณต่าง ๆ ของร้าน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ของบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ซึ่งแสดงถึงเครื่องหมายบริการด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องดนตรี โดยมีบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการออกแบบเครื่องหมายดังกล่าว โจทก์เป็นเพียงผู้จัดการทั่วไปมีหน้าที่ดูแลร้าน ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเมื่อประมาณปี 2541 แต่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ได้รับการจดทะเบียน เต่บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ได้ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวตลอดมา จนกระทั่งปลายปี 2543 ได้เกิดปัญหาการบริหารงานในบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด จำเลยที่ 2 จึงได้เปิดบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นในกลางปี 2544 โดยตั้งสำนักงานอยู่สถานที่เดียวกันกับบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด และเมื่อประมาณปลายปี 2544 จำเลยที่ 1 ได้เปิดร้านอาหารและเครื่องดื่มชนิด ประเภท และสถานที่เดียวกันกับที่บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ได้เคยประกอบกิจการอยู่ โดยมีการนำเครื่องหมายบริการ LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า ตามฟ้องซึ่งได้รับอนุญาตจากบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ผู้มีสิทธิอย่างแท้จริงมาใช้ในการประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มโดยใช้เครื่องหมายบริการตามฟ้องโดยได้รับอนุญาตจากบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายบริการที่แท้จริงแล้ว จึงไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิทางทะเบียนในเครื่องหมายบริการเพราะโจทก์กับนางสาวจิดาภา ฉัตรเจริญสุข ผู้สมรู้ร่วมคิดกันนำเครื่องหมายบริการของบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด ไปจดทะเบียนในนามของนางสาวจิดาภา แล้วต่อมาโอนให้โจทก์ทั้งที่ความจริงบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในเครื่องหมายบริการ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองใช้ จำหน่าย หรือเสนอจำหน่ายสินค้าและบริการภายใต้เครื่องหมายบริการ (สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้า) LA FIESTA อ่านว่า ลาเฟียสต้า หรือทำให้ปรากฏซึ่งเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ธันวาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการใช้และทำให้ปรากฏซึ่งเครื่องหมายบริการดังกล่าวตามฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2542 จึงเลิกกัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 เคยร่วมกันประกอบกิจการร้านอาหารในนามบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด โดยใช้เครื่องหมายบริการพิพาท ร้านอาหารดังกล่าวเช่าช่วงในนามของบริษัทดังกล่าวจากบริษัทเวนดี้ส์ไทย จำกัด โดยเสียค่าโอนสิทธิการเช่าเป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2541 ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.14 และบริษัทดังกล่าวได้จ่ายค่าจ้างออกแบบร้านซึ่งใช้เครื่องหมายบริการพิพาทให้แก่นายไกรสีห์ ชมอุตม์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.16 กับจ่ายค่าจ้างทำป้ายร้านซึ่งใช้เครื่องหมายบริการพิพาทให้แก่บริษัทพีค ควอลิตี้ โปรดักส์ จำกัด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.17 ร้านอาหารดังกล่าวได้เปิดดำเนินกิจการในเดือนกันยายน 2541 ต่อมาในเดือนมกราคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้ไล่โจทก์ออกจากร้าน ระหว่างดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 บริษัทดังกล่าวได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาท แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนและคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 นางสาวปนัดดา แสงด้วง ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาท นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนและต่อมานางสาวปนัดดาได้โอนเครื่องหมายบริการพิพาทให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้เครื่องหมายบริการพิพาทในการประกอบกิจการร้านอาหารที่ร้านเดิม
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด เป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการพิพาทที่แท้จริงหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีตัวโจทก์และนายสุรชัย วรวรุณศาสตร์ เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้คิดค้นคำว่า LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า และว่าจ้างให้นายสุรชัยออกแบบลีลาตัวอักษรและภาพประดิษฐ์จนสำเร็จเป็นเครื่องหมายบริการพิพาทตามเอกสารหมาย ว.จ.1 และ จ.15 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายสุรชัยว่า นายสุรชัยเริ่มออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2541 ใช้เวลาออกแบบ 2 ถึง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ ฉะนั้น เดือนที่นายสุรชัยออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทแล้วเสร็จจึงอยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2541 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2542 จึงเลิกกัน และได้ร่วมกันประกอบกิจการร้านอาหารในนามบริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด โดยรับโอนสิทธิการเช่าช่วงร้านอาหารดังกล่าวจากบริษัทเวนดี้ส์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2541 ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.14 ก็มีเหตุทำให้เชื่อได้ว่าการจ้างนายสุรชัยออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 เตรียมการเปิดร้านอาหารในนามบริษัทดังกล่าว การที่โจทก์จ้างนายสุรชัยออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทจึงเป็นการจ้างในนามของบริษัทดังกล่าว มิใช่โจทก์จ้างเป็นการส่วนตัว การที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้จ่ายค่าจ้างออกแบบร้านและป้ายร้านโดยใช้เครื่องหมายบริการพิพาทให้แก่นายไกรสีห์ ชมอุตม์ และบริษัทพีค ควอลิตี้ โปรดักส์ จำกัด ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ทั้งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาทเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ตลอดจนการประกอบกิจการร้านอาหารดังกล่าวกระทำในนามของบริษัทดังกล่าว ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่าการที่โจทก์จ้างนายสุรชัยออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทเป็นการกระทำแทนบริษัทดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัทดังกล่าว ฉะนั้น บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจึงมีสิทธิในเครื่องหมายบริการพิพาท แม้โจทก์จะเป็นผู้คิดค้นคำว่า LA FIESTA อ่านว่า ลา เฟียสต้า แต่เมื่อเป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในบริษัทดังกล่าว และการจ้างออกแบบเครื่องหมายบริการพิพาทก็เป็นการกระทำแทนบริษัทดังกล่าว บริษัทเฟมัส แอสโซซิเอท จำกัด จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการพิพาทที่แท้จริง การที่นางสาวปนัดดาได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการพิพาทและต่อมาโอนให้แก่โจทก์ เห็นได้ชัดว่า เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมกับพวกนำเครื่องหมายบริการพิพาทไปขอจดทะเบียนแล้วโอนมาเป็นของโจทก์ เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share