คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารที่จำเลยใช้ประกอบการถามค้านโจทก์ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานโดยโจทก์เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 ไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,562.50 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 2,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 111720 ตำบลสีกัน (บ้านใหม่) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่ ส.1669/898 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.13 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 3 และเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 รู้จักกันมาก่อน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ที่ 1 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหมาย จ.6 ว่าโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 จัดการหาเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 1 กลับนำหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความเป็นว่าโจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจและโฉนดที่ดินดังกล่าวไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 และต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 3 กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี ในวงเงิน 940,000 บาท หลังจากโจทก์ที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์แล้ว ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2541 โจทก์ทั้งสองได้ไปขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและเจ้าพนักงานที่ดินได้รับอายัดไว้ตามสำเนาคำขออายัดที่ดินและบันทึกข้อความเรื่องการอายัดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในเบื้องต้นมีว่าจำเลยทั้งสามอ้างเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยาน โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานและไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่โจทก์ทั้งสองก่อนสืบพยาน 7 วัน หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยาน แต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานปากแรกว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสาร ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐานการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และมาตรา 90 ดังนั้น แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสองก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share