คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2538 โจทก์และจำเลยทั้งสองโต้เถียงกันเพราะไม่ต้องการให้โจทก์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของร้านค้าอีกต่อไป จ. ทนายความของโจทก์จึงเสนอให้เลิกหุ้นส่วนกัน และในวันเดียวกันนั้นก็มีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของร้านค้าทันที หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองก็แยกไปเปิดบัญชีกระแสรายวันแทนบัญชีเดิมของห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว และมีการร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาต่อกันอีกด้วย ย่อมเห็นได้ว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกห้างหุ้นส่วนกันแล้วในวันที่ 22 เมษายนส่วนการชำระบัญชีที่ยังไม่แล้วเสร็จหามีผลให้รับฟังว่าคู่กรณียังคงมีเจตนาร่วมดำเนินกิจการอยู่เช่นเดิมไม่ เพราะเป็นคนละขั้นตอนกัน ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของร้านค้าแม้จะเริ่มกระทำตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จเพราะคู่กรณียังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับผลการตรวจสอบ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 ที่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวให้ถูกต้องและยุติเสียก่อน ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้ชำระบัญชีจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2524 โจทก์ จำเลยที่ 1 นายสำรวย คำควรจำ และนายธีรชัย จำนามสกุลไม่ได้ รวม 4 คน ได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนเปิดร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ดที่บริเวณชั้นล่างของอาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ลงหุ้นคนละ 10,000 บาทโดยมิได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมาย ในการดำเนินกิจการหุ้นส่วนทั้งสี่ตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไปทำสัญญาเช่ากับเจ้าของผู้ดำเนินการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แทนหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ต่อมาปลายปี 2524 นายธีรชัยได้ถอนหุ้นของตนทั้งหมดไป หุ้นส่วนที่เหลือคงร่วมทำกิจการต่อไป โดยมีการต่อสัญญาเช่าครั้งละ 2 ปี เมื่อดำเนินการมาได้ 4 ถึง 5 ปี นายสำรวยได้โอนหุ้นเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา โดยหุ้นส่วนอื่นทุกคนยินยอมและคงร่วมกิจการกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ และทุกครั้งที่ครบกำหนดสัญญาเช่าคราวละ 2 ปี ก็มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามทำสัญญาเช่าแทนมาตลอดในการดำเนินกิจการโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งวันดูแลรับผิดชอบในการซื้อขายสินค้า รับจ่ายเงิน และทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน โดยโจทก์ดูแลรับผิดชอบวันพุธและวันเสาร์ จำเลยที่ 1 ดูแลรับผิดชอบวันจันทร์และวันพฤหัสบดีส่วนจำเลยที่ 2 ดูแลรับผิดชอบวันอังคารและวันศุกร์ ส่วนวันอาทิตย์หุ้นส่วนทั้งสามคนจะหมุนเวียนผัดเปลี่ยนมาดูแลสัปดาห์ละหนึ่งคนเรื่อยมา หุ้นส่วนคนใดดูแลรับผิดชอบวันใดหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นในวันนั้น หุ้นส่วนคนนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายในวันนั้น ๆ แต่ผู้เดียว การดูแลร้านค้าหุ้นส่วนทุกคนมีกุญแจร้านค้าคนละ 1 ดอก ซึ่งหุ้นส่วนทั้งสามคนก็ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแลร้านค้า และแบ่งผลกำไรจากการค้าเรื่อยมาเกือบทุกเดือนโดยไม่มีปัญหา จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้านค้า เมื่อโจทก์ไปถึงร้านค้า ปรากฏว่ากุญแจประตูร้านค้าถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันเปลี่ยนใหม่โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ทำให้โจทก์ไม่สามารถเปิดประตูเข้าไปในร้านค้าเพื่อทำหน้าที่ตามปกติได้ ต้องรออยู่จนจำเลยทั้งสองมาถึง จึงสามารถเข้าไปในร้านค้าได้ และขอดูสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวันจากจำเลยทั้งสองเพื่อตรวจสอบบัญชีร้านค้าในวันที่ผ่านมาตามที่จำเลยทั้งสองทำไว้ รวมทั้งตรวจสอบยอดเงินที่ยกมาจากวันที่ผ่านมาซึ่งเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินด้วย แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์ตรวจสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายและยอดเงินในลิ้นชัก โดยแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในร้านค้าดังกล่าว พร้อมขับไล่ให้โจทก์ออกไปจากร้านค้านั้นด้วย จนเกิดปากเสียงกัน หลังจากวันนั้นเมื่อถึงวันที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลร้านค้าก็ถูกจำเลยทั้งสองขัดขวางไม่ให้เข้าไปในร้านค้าเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 เวลา19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี กล่าวหาว่า โจทก์และนายจรูญ สิงหนาท ทนายโจทก์ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในร้านค้าดังกล่าวในเวลากลางคืน ซึ่งไม่เป็นความจริง ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดและในวันเดียวกันโจทก์กับนายจรูญก็ได้แจ้งความกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่า ขัดขวางและขับไล่โจทก์ออกจากร้านค้าเมื่อวันที่ 22เมษายน 2538 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการเช่นเดียวกัน ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้การเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(3) ขอให้มีคำพิพากษาเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และมีคำสั่งตั้งโจทก์หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อคืนทุนให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองตามที่ได้ลงหุ้นหากมีทรัพย์สินและเงินเหลืออยู่เท่าใด ให้แบ่งเฉลี่ยเป็นกำไรระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินปันผลกำไรจากร้านค้าดังกล่าวที่ค้างชำระโจทก์รวม 1,041,767 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 1,010,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินปันผลกำไรแก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 101,000 บาททุกวันสิ้นเดือนนับแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า สิทธิการเช่าร้านค้าพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นของห้างหุ้นส่วน เพียงแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้สิทธิการเช่าแล้ว ได้ชักชวนโจทก์นายสำรวยคำควรจำ และนายธีรชัยมาเข้าร่วมหุ้นกันโดยลงทุนคนละ 10,000 บาท โดยมิได้นำสิทธิในร้านค้าพิพาทมาเข้าร่วมหุ้นด้วย แต่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าทำการค้าขายในร้านค้าได้ โดยหุ้นส่วนจะต้องชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนกันตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน2538 แต่ยังไม่มีการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น เพียงแต่มีการตรวจนับจำนวนสินค้าคงเหลือในร้านค้าเท่านั้นแต่ก็ตกลงกันไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากการที่จำเลยทั้งสองได้รับจากการค้าขายส่วนตัวของจำเลยทั้งสองเองในร้านค้าพิพาท ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2538 ตลอดมา และผลกำไรจากการประกอบการค้าที่ร้านค้าพิพาทนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2538 ได้กำไรไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิในผลกำไรส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 377,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 เมษายน 2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเลิกกันตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2538 ให้ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่าห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนซึ่งโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนกันได้เลิกกิจการเมื่อวันที่ 22เมษายน 2538 หรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของนายจรูญ สิงหนาท ทนายความของโจทก์ได้ความว่า ในวันที่ 22 เมษายน 2538 ดังกล่าว นายจรูญได้รับแจ้งจากโจทก์ให้ไปที่ร้านค้าภายในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินกิจการ โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้โต้เถียงกันเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิให้โจทก์ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของร้านค้าอีกต่อไปนายจรูญเห็นว่าคงร่วมกิจการกันต่อไปไม่ได้ จึงเสนอให้เลิกหุ้นส่วนกัน จึงได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของร้านค้าในวันเดียวกันนั้น ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ระบุว่า ในวันดังกล่าวนายวรภพซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นทนายความได้แจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องการจะเลิกหุ้นส่วน โจทก์จึงตอบว่าต้องทำการตรวจสอบสินค้าและหนี้สินแล้วแบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 ส่วน ซึ่งหมายถึงการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนของโจทก์และจำเลยทั้งสองนั่นเองและก็ได้มีการตรวจสอบสินค้าและหนี้สินของร้านค้าทันที ซึ่งภายหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองก็แยกไปเปิดบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขานานาเหนือ แทนบัญชีเดิมของห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ซึ่งมีทั้งบัญชีกระแสรายวันบัญชีออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งเปิดไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย (มหาชน)สาขานานาเหนือ เพื่อใช้ในกิจการของห้างและจำเลยทั้งสองก็มิให้โจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวในกิจการของร้านค้าอีกต่อไป อีกทั้งได้มีการร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาต่อกันอีกด้วยดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกหุ้นส่วนกันแล้วตามพฤติการณ์นี้ปรากฏในวันที่ 22 เมษายน 2538 ดังกล่าว ส่วนการชำระบัญชีไม่แล้วเสร็จหามีผลให้รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองยังคงมีเจตนาร่วมดำเนินกิจการกันอยู่เช่นเดิมไม่ เพราะเป็นคนละขั้นตอนกัน คำเบิกความของโจทก์ที่ว่า เมื่อชำระบัญชีแล้วเสร็จจึงจะทำสัญญาเลิกห้างหุ้นส่วนกัน จึงขัดต่อเหตุผล ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนของโจทก์และจำเลยทั้งสองเลิกกันแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวและสำหรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ยอมเลิกห้างหุ้นส่วนเพราะจำเลยทั้งสองมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1056 และหากจะเลิกห้างหุ้นส่วนก็จะต้องทำสัญญาเป็นหนังสือเลิกห้างหุ้นส่วนต่อกันนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องและต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางนำสืบดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสองมีว่า ควรให้มีการชำระบัญชีหรือต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่โจทก์นำสืบโดยไม่ต้องมีการชำระบัญชีหรือไม่ เห็นว่าในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของร้านค้าซึ่งเริ่มกระทำตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2538 ก็ไม่อาจกระทำได้แล้วเสร็จเพราะคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังนี้ จะให้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบหาได้ไม่ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 ที่จะต้องตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของร้านค้าให้ถูกต้องและเป็นยุติเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้ชำระบัญชี จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกันและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”

พิพากษายืน

Share