คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์ รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม
เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่ง การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วนและการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์ มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 930,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับโจทก์ใช้เงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันปลูกต้นสนเพื่อตัดขายแบ่งผลกำไรกันฝ่ายละครึ่ง โดยโจทก์ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ใช้ที่ดินของจำเลยทั้งสองปลูกต้นสนดังกล่าว เมื่อต้นสนโตได้อายุโจทก์ตัดไม้สนบางส่วนแล้วนำไปขายให้ร้านค้าแต่ไม่นำเงินมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักเงินค่าใช้จ่ายของโจทก์ก่อนเหลือเท่าใดจึงนำกำไรมาแบ่งให้จำเลยทั้งสองแต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่ได้ตกลงกันให้โจทก์หักค่าใช้จ่ายก่อนนำกำไรมาแบ่งกัน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์ตัดไม้สนต่อไป โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองพร้อมเรียกให้ใช้ค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญตามฟ้องเลิกกันแล้วจำต้องมีการชำระบัญชีหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า กิจการของห้างมีเพียงต้นสนที่เหลือ ไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอก การชำระบัญชีจึงไม่เป็นประโยชน์ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้คืนทุนและแบ่งผลกำไรตามที่พิจารณาได้ความได้เลย ในปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า หลังจากตกลงปลูกต้นสนในที่ดินของจำเลยทั้งสองแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 โจทก์ลงทุนซื้อไม้สนมา 20,000 ต้น แล้วเพาะเลี้ยงไว้ที่บ้านของโจทก์ก่อน จากนั้นจึงนำมาปลูกในที่ดินของจำเลยทั้งสอง โดยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปลูก 60,000 บาท เศษ เมื่อไม้สนมีขนาดที่เริ่มตัดได้ในช่วงปี 2549 จึงตัดโค่นครั้งแรก โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองช่วยกันตัด คิดค่าแรงต้นละ 3 ถึง 5 บาท โจทก์ขายไม้สนนั้นให้แก่นายแปลก และนายพันธ์ ไม่ปรากฏนามสกุล ได้เงิน 47,000 บาท เศษหักค่าตัดโค่นแล้วเหลือ 40,000 บาท เศษ โจทก์ได้รับเงินมาแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือ 9,595 บาท บุตรชายจำเลยรับไป โจทก์จึงแจ้งจำเลยทั้งสองพร้อมแสดงหลักฐานว่ามีต้นทุน 60,000 บาท เศษ แต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้นทุนน่าจะเป็นเงินประมาณ 25,000 บาทและให้โจทก์ได้ไม้สนที่ตัดแล้ว ส่วนที่ยังไม่ตัดให้เป็นของจำเลยทั้งสองและแจ้งด้วยว่าไม่ต้องการให้โจทก์ยุ่งเกี่ยวอีก จากนั้นจำเลยทั้งสองได้ตัดและขนไม้สนไปขายเอง ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า การตัดโค่นต้นสนในปี 2549 นั้น ตกลงกับโจทก์ว่าจะแบ่งรายได้กันคนละครึ่งโดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ก่อน แต่เมื่อขายไม้สนได้ โจทก์ไม่แบ่งเงินให้ตามส่วน อ้างว่ายังไม่ได้คืนต้นทุน ทั้งที่เคยตกลงกันไว้ว่าโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงห้ามมิให้โจทก์ตัดโค่นไม้สนอีก ต่อมาจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นต้องใช้เงินจึงตัดโค่นต้นสนในเนื้อที่ 1 ไร่ เศษ แล้วขายให้แก่นายพันธ์ ได้เงินมา 7,000 บาท เศษ รวมกับเงินที่นายแปลกค้างชำระโจทก์เป็นเงิน10,000 บาท เศษ ต้นสนถูกตัดโค่นไปแล้วเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ เศษ คงเหลืออยู่อีก 3 ไร่ เศษ
เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งจากคำเบิกความของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ได้ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย เช่นนี้จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ห้างหุ้นส่วนตามฟ้องต้องมีการชำระบัญชีกันก่อนที่จะมีการฟ้องเรียกเงินที่ลงหุ้นไปคืน หรือเรียกส่วนแบ่งทรัพย์สินนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปดำเนินการใดๆในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่งดังที่โจทก์อ้าง เช่นนี้การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์นั่นเอง มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน และเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเลิกกันแล้วโดยจะต้องมีการชำระบัญชีก่อน ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share