คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4201/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้พิมพ์หนังสือเป็นเรื่องจ้างทำของสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยชำระค่าจ้างดังกล่าวมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)
สัญญากำหนดชำระค่าจ้างเป็นงวด ๆ ตามงานที่เสร็จเป็นช่วง ๆ โจทก์จัดส่งหนังสือให้จำเลยครบถ้วนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ฉะนั้น อายุความของโจทก์ในการฟ้องเพื่อสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงวดสุดท้ายจึงเริ่มนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จึงเป็นเวลาเกินกว่าสองปีแล้ว จึงขาดอายุความ ตามมาตรา 193/9 การบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงของสัญญาที่แบ่งชำระค่าจ้างเป็นงวด ๆ ให้กลายเป็นการชำระหนี้ให้บางส่วน เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์พิมพ์หนังสือ ค่าจ้างพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน500,000 บาท จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 250,000 บาท โจทก์พิมพ์หนังสือให้จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้โจทก์อีก 125,000 บาท จำเลยยังค้างชำระโจทก์อีกจำนวน 125,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 125,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินจ้างจากจำเลยภายในสองปี นับแต่วันที่20 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบงานตามที่จำเลยว่าจ้างแก่จำเลย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก็คือฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้พิมพ์หนังสือชื่อ บางกอกบาย ดีไซน์ ตามสัญญาพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 นั้นเป็นเรื่องจ้างทำของฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยชำระค่าจ้างดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) จากข้อความในสัญญาพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ที่เกี่ยวกับรายละเอียดการจ่ายเงิน ข้อ 6 นั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการกำหนดการชำระค่าจ้างเป็นงวด ๆ ตามงานที่เสร็จเป็นช่วง ๆ อันเป็นปกติวิสัยของสัญญาว่าจ้างเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เองนายสมบูรณ์ พงษ์พิทักษ์ชัย พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงเบิกความว่า ในวันทำสัญญา จำเลยได้ชำระเงิน 250,000บาท และชำระอีกครั้งจำนวน 125,000 บาท เมื่อทำอาร์ตเวิร์คเสร็จนั่นก็หมายถึงจำเลยจะต้องชำระงวดสุดท้ายจำนวน 125,000 บาท เมื่อโจทก์พิมพ์หนังสือเสร็จเรียบร้อยซึ่งได้ความจากนายสมบูรณ์ ต่อไปว่าโจทก์จัดส่งหนังสือให้จำเลยครบถ้วนเมื่อวันที่ 20พฤศจิกายน 2538 ฉะนั้น อายุความของโจทก์ในการฟ้องเพื่อสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงวดสุดท้ายจึงเริ่มนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จึงเป็นเวลาเกินกว่าสองปีแล้ว ถือว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 การบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงของสัญญาที่แบ่งชำระค่าจ้างเป็นงวด ๆ ให้กลายเป็นการชำระหนี้ให้บางส่วน เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ดังที่โจทก์อ้าง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share