แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ไปให้โจทก์ตรงกับคำพรรณนาของจำเลยที่ 2 ทุกประการพร้อมทั้งให้จำเลยที่ 2 มีนามบัตรซึ่งมีรูปเครื่องหมายและตัวอักษร แสดงว่าเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มอบเงินจำนวนตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต จากการกระทำของจำเลยที่ 2 เสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน
ข้อความตามตราประทับด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่มีใจความว่าตั๋วสัญญาใช้เงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้น เป็นข้อความที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 (2) จึงไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ที่ว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงินข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายหรือเชิดให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ให้ติดต่อโจทก์นำเงินไปให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ยึดเป็นหลักฐานและจำเลยที่ ๒ ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมามอบให้โจทก์ โจทก์จึงมอบเงินตามตั๋วนั้น ให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมาโจทก์ต้องการขอถอนเงินคืนจำเลยที่ ๑ แจ้งว่าเช็คที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ ๑ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ ๑ จึงยึดเอาตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไป จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของตน แต่มีอาชีพเป็นนายหน้าหาเงินฝากแก่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ จะให้เงินตอบแทนเป็นร้อยละของจำนวนเงินฝาก จำเลยที่ ๒ นำเช็คจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท มาแจ้งแก่จำเลยที่ ๑ ว่าโจทก์ขอฝากเงินเป็นเวลา ๓ ปี จำเลยที่ ๑ จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนดังกล่าวโดยประทับด้านหลังตั๋วเงินว่าตั๋วนี้สมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คนั้นเรียกเก็บเงินได้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ และทราบจากโจทก์ว่า โจทก์มอบเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ ยักยอกเงินไป ขอให้จำเลยที่ ๑ นำเช็คของจำเลยที่ ๒ มอบแก่โจทก์เพื่อดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๒ เอง พร้อมทั้งคืนตั๋วสัญญาใช้เงินแก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงมอบเช็คแก่โจทก์ไป ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ ๒ แล้ว จึงขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ แต่การที่จำเลยที่ ๑ ยอมให้จำเลยที่ ๒ นำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทจำเลยที่ ๑ ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ไปให้โจทก์ตรังกับคำพรรณนาของจำเลยที่ ๒ ทุกประการ พร้อมทั้งให้จำเลยที่ ๒ มีนามบัตรซึ่งมีรูปเครื่องหมายและตัวอักษร แสดงว่าเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงถือว่าเป็นการเชิดจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๑ จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตในการกระทำของจำเลยที่ ๒
ส่วนข้อความตามตราประทับของจำเลยที่ ๑ เป็นข้อความที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๓ (๒) ที่ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะต้องมีคำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่า จะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน ข้อความตามตราประทับ จึงไม่มีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๙๙ ที่ว่าข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วนั้นไม่ เมื่อข้อความตามตราประทับเป็นที่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คู่กรณีตกลงกันได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๕/๒๕๐๗ ที่จำเลยยกขึ้นอ้าง
พิพากษายืน