แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม โดยจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงฉวัดเฉวียนไปมาซึ่งความผิดเช่นว่านี้ แม้จำเลยจะมีใบอนุญาตขับรถยนต์ก็ยังเป็นความผิดได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะทราบว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ แต่ยังให้ยืมรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับขี่ ก็หาได้ถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน จันทบุรี บ – 6579 ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบ และมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ศาลสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางโดยผู้ร้องมอบกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่นายกอบศักดิ์ ศุกรีรัตน์ บุตรผู้ร้อง และจำเลยได้ร่วมกับนายกอบศักดิ์มาใช้ขับขี่ในบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีการขับขี่ยกล้อหน้าโชว์ว่าใครจะขับขี่ได้ไกล แสดงว่านายกอบศักดิ์รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่นางพิกุล ศุกรีรัตน์ ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้นายกอบศักดิ์ ศุกรีรัตน์ บุตรผู้ร้อง ได้ใช้สอยครอบครองแต่ผู้เดียวในฐานะเป็นเจ้าของแล้ว เพียงแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อของนายกอบศักดิ์เท่านั้น นายกอบศักดิ์จึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงไม่ใช่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า รถจักรยานยนต์ของกลางมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามสำเนารายการจดทะเบียนและสำเนารายการเสียภาษี แม้ผู้ร้องจะให้นายกอบศักดิ์บุตรของผู้ร้องใช้สอยครอบครองแต่ผู้เดียวตั้งแต่ซื้อมาก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางก็ยังคงเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องหาได้มีเจตนายกกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ให้แก่นายกอบศักดิ์แต่อย่างใดไม่ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ร้องยังเป็นผู้ชำระภาษีประจำปีสำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางตลอดมา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้ร้องทราบอยู่แล้วว่าทั้งนายกอบศักดิ์และจำเลยต่างยังเป็นผู้เยาว์ อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ แต่ผู้ร้องยังปล่อยปละละเลยให้บุคคลทั้งสองขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางโดยไม่ห้ามปรามและนำไปใช้ในเวลากลางคืน ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย จึงไม่มีสิทธิมาร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น เห็นว่า จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นเรื่องที่จำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางด้วยความเร็วสูงในลักษณะฉวัดเฉวียนไปมา กีดขวางการเดินรถของผู้อื่นและขับขี่โดยยกล้อหน้าเป็นระยะทางยาวซึ่งความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นเช่นว่านี้แม้จำเลยจะมีใบอนุญาตขับรถก็ยังเป็นความผิดได้ ฉะนั้น แม้ผู้ร้องจะทราบว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ แต่ยังให้ยืมรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับขี่ก็หาได้ถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยไม่ นอกจากนี้หากผู้ร้องรู้ว่าจำเลยหรือนายกอบศักดิ์จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับขี่ด้วยความเร็วสูงในลักษณะฉวัดเฉวียนไปมาและยกล้อหน้าเป็นระยะทางยาว ผู้ร้องย่อมต้องไม่อนุญาตด้วยเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อบุคคลทั้งสองโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนายกอบศักดิ์ซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องที่นั่งซ้อนท้ายออกไปกับจำเลย รวมทั้งจะเกิดอันตรายต่อรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องที่อาจล้มเสียหายด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำสั่งให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน