แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
วัดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นตัวความ ดังนั้น ผู้ที่จะว่าความด้วยตนเองหรือดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของวัดจำเลยที่ 1 หรือจะตั้งแต่งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนวัดจำเลยที่ 1 ได้ก็คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 ส่วนไวยาวัจกรของวัดจำเลยที่ 1 นั้น ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 8(พ.ศ. 2506) ข้อ 3 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505มาตรา 45 เป็นคฤหัสถ์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเจ้าอาวาสของวัดให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด หาได้เป็นผู้แทนของวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จะมีอำนาจว่าความด้วยตนเองหรือดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแทนวัดได้เพราะได้รับยกเว้นตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ไม่
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายกับพวกรวม 9 คน ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์และตัดฟันโค่นล้มต้นไม้ในที่ดินของโจทก์ทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1โดยพระอธิการชม เตชธมโม เจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องลงวันที่16 สิงหาคม 2534 ต่อศาลชั้นต้นอ้างว่าผู้ร้องเป็นไวยาวัจกรวัดจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 8(พ.ศ. 2506) ข้อ 3 และตามที่เจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 มอบหมายเป็นหนังสือไว้ ผู้ร้องจึงจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้โดยขอเข้ามาเป็นคู่ความหรือตัวความในฐานะจำเลยในคดีนี้แทนวัดโคกมะตูม จำเลยที่ 1 เพื่อให้ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ร้องได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 33 ให้ผู้ร้องมีอำนาจว่าความในศาลได้ จึงขอเข้ามาเป็นคู่ความหรือตัวความแทนวัดโคกมะตูมจำเลยที่ 1 ได้กรณีหนึ่ง และในฐานะผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่นกำหนดให้ผู้ร้องว่าความในศาลให้แก่วัดโคกมะตูมจำเลยที่ 1 ได้อีกกรณีหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิว่าความได้ หากจะดำเนินคดีให้จำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายความเข้ามา ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ วัดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาสของวัดจำเลยที่ 1 ผู้ร้องเป็นไวยาวัจกรของวัดจำเลยที่ 1 ในระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ในนามของวัดจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ตั้งให้ผู้ร้องเป็นไวยาวัจกรวัดจำเลยที่ 1 จึงให้ผู้ร้องดำเนินคดีแทนโดยมีภาพถ่ายใบแต่งตั้งไวยาวัจกรและภาพถ่ายใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 แนบท้ายคำร้อง ปรากฏตามคำร้องฉบับวันที่ 23 เมษายน 2534 ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้ผู้ร้องนำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 2แสดงต่อศาลในนัดหน้า ครั้นในวันนัดผู้ร้องนำหนังสือมอบอำนาจของวัดจำเลยที่ 1 เนื้อความทำนองเดียวกับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความปรากฏตามเอกสารในสำนวนอันดับที่ 37/1 และผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า เข้าใจว่าผู้รับมอบอำนาจว่าความได้เองจึงไม่ได้แต่งตั้งทนายความ ขอเลื่อนการไต่สวนไปนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนไปในวันที่19 สิงหาคม 2534 ครั้นวันที่ 3 กรกฎาคม 2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องข้อความสำคัญว่า ผู้ร้องเป็นไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 8(พ.ศ. 2506) ข้อ 3 และตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528มาตรา 33 ผู้ร้องจึงเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และมีอำนาจซักค้านพยานโจทก์ในการพิจารณาคดีในศาลได้เมื่อตัวความมิได้ตั้งทนายความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 ผู้รับมอบอำนาจจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ให้ตั้งทนายความเพื่อพิจารณาคดีต่อไป ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องมีข้อความดังที่กล่าวแล้วข้างต้นอีกพร้อมกับมีหนังสือยกเลิกการมอบอำนาจของวัดจำเลยที่ 1 ที่มอบให้ผู้ร้องฉบับตามเอกสารในสำนวนอันดับที่ 37/1 และภาพถ่ายใบแต่งตั้งผู้ร้องเป็นไวยาวัจกรของวัดจำเลยที่ 1 มาท้ายคำร้องด้วย มีปัญหาว่าผู้ร้องซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัดจำเลยที่ 1 จะเป็นคู่ความหรือตัวความแทนวัดจำเลยที่ 1 และว่าความอย่างทนายความด้วยตนเองพร้อมกับดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงแทนวัดจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 วรรคแรก บัญญัติว่า “ฯลฯ ผู้แทนในกรณีที่คู่ความเป็นนิติบุคคลจะว่าความด้วยตนเองและดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของตน หรือจะตั้งแต่งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็ได้”คดีนี้ วัดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นตัวความดังนั้น ผู้ที่จะว่าความด้วยตนเองหรือดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของวัดจำเลยที่ 1 หรือจะตั้งแต่งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนวัดจำเลยที่ 1 ได้ก็คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 ส่วนผู้ร้องซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัดจำเลยที่ 1นั้น ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ข้อ 3 ระบุว่า “ในกฎมหาเถรสมาคมนี้”ไวยาวัจกร” หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ” และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” จากข้อความในบทบัญญัติ มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505และข้อความในกฎมหาเถรสมาคมในข้อดังกล่าวสำหรับไวยาวัจกรนั้นมีความหมายว่า ไวยาวัจกรซึ่งเป็นคฤหัสถ์ได้รับการแต่งตั้งและได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเจ้าอาวาสของวัด ให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดและในการปฏิบัติงานดังกล่าวของไวยาวัจกร ให้ถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น หากไวยาวัจกรผู้นั้นถูกผู้ใดฆ่าขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว ผู้ที่ฆ่าไวยาวัจกรนั้นย่อมต้องรับโทษสถานหนัก เพราะเป็นการฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289(2)แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น หาได้หมายความว่า ไวยาวัจกรผู้นั้นเป็นผู้แทนของวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจว่าความด้วยตนเอง หรือดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแทนวัดได้ เพราะได้รับยกเว้นตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528ดังผู้ร้องฎีกาไม่ เพราะบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ดังกล่าว ยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตว่าความในศาลได้เฉพาะผู้ที่ได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ดังเช่น พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 6 และมาตรา 11(3) ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการเป็นทนายแผ่นดินและให้มีอำนาจและหน้าที่รับแก้ต่างในคดีแพ่งและคดีอาญาซึ่งเจ้าพนักงานถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ ฯลฯ เป็นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน