คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้างรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่านั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตามมาตรา 426 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูก ช.ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเงินจำนวนดังกล่าวจาก ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ในทางแพ่ง จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทและจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันของ ช. ชำระค่าเสียหายส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 นายชิน วะชังเงินลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์หมายเลขทะเบียน 71-6562 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยกตู้สินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 นายชินขับรถยนต์ดังกล่าวลากรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 71-6096 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเลินเล่อพุ่งเข้าชนกำแพงกั้นขอบทางด่วนและชนเสาไฟฟ้าบนทางด่วน เป็นเหตุให้ตู้สินค้าที่บรรทุกมาตกลงจากทางด่วนไปทับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายรวม 5 คัน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,790,882 บาทนายชินถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้มีสิทธิรับมรดกของนายชินชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งหกขาดนัด

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายชิน วะชังเงิน เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายชิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 นายชินขับรถยนต์ของโจทก์ในทางการที่จ้างชนรถยกตู้สินค้า ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย วันที่ 28 เมษายน 2542 นายชินขับรถยนต์ของโจทก์ในทางการที่จ้างชนกำแพงกั้นขอบทางด่วน เป็นเหตุให้ตู้สินค้าที่บรรทุกมาหลุดออกจากรถตกจากทางด่วนไปทับรถยนต์ 5 คัน ที่จอดอยู่และนายชินถึงแก่ความตายทำให้รถยนต์ของโจทก์ ตู้สินค้ารถยนต์ของบุคคลอื่นกำแพงกั้นขอบทางด่วน และเสาไฟฟ้าบนทางด่วนได้รับความเสียหายโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้วซึ่งรวมกับค่าเสียหายของโจทก์รวมจำนวน 1,230,882 บาท แต่ยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 อ – 5159กรุงเทพมหานคร และ 9 ท – 1796 กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน560,000 บาท โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่ยังไม่ชำระ พิพากษาให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,230,882 บาท และจำเลยที่ 6ชำระจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์จะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างต่อบุคคลภายนอก แม้โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกก็ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิหน้าที่แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นเป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้างรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่านั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตามมาตรา 426 ซึ่งบัญญัติว่านายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่โจทก์ยังไม่สามารถตกลงจำนวนค่าเสียหายและยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน9 อ – 5159 กรุงเทพมหานคร และ 9 ท – 1796 กรุงเทพมหานครโจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเงินจำนวนดังกล่าวจากนายชิน วะชังเงินลูกจ้างตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ในทางแพ่ง จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทและจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันของนายชินชำระค่าเสียหายส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share