คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติไว้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรอันต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ได้บัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ.ซึ่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) ฯ มาตรา 3 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั้นบัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1) … (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่… อันแสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี คดีนั้นแม้จะฟังได้ว่าการที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 11 แปลง ให้แก่วัดใหม่กระทุ่มล้ม ถือเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ตาม แต่ผู้ที่โจทก์โอนที่ดินทั้ง 11 แปลงให้มีฐานะเป็นวัดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฯ และเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนทั้งปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวติดต่อเป็นผืนเดียวกันและอยู่ติดกับที่ดินที่ตั้งวัดใหม่กระทุ่มล้ม ปัจจุบันใช้ในการจัดกิจกรรมของวัดและเป็นลานกีฬาชุมชนอันแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่ต้องการบริจาคที่ดินทั้ง 11 แปลงเพื่อเป็นการกุศลให้ใช้เป็นสถานที่ทางศาสนาและสาธารณประโยชน์โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าหรือหากำไร การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในสังกัดจำเลยที่ 1 โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดิน 11 แปลง แก่วัดใหม่กระทุ่มล้ม ซึ่งเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพื่ออุทิศให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และรายได้ส่วนท้องถิ่นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 624,360 บาท โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมคำร้องของดเบี้ยปรับ คงเหลือเงินภาษีที่ต้องชำระ 312.180 บาท ซึ่งโจทก์ได้ผ่อนชำระภาษีเรื่อยมาครั้งละ 1,000 บาท รวม 7 ครั้ง เป็นเงิน 7,000 บาท โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและรายได้ส่วนท้องถิ่นอีก 305,180 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 312,180 บาท เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร แต่จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 312,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ขอคืนเงินภาษีอากรจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น อันเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 312,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2547 จนกว่าอธิบดีกรมสรรพากรจะมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาษีที่ได้รับคืน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2533 และ 2534 โจทก์ซื้อที่ดิน 11 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2536 โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินทั้ง 11 แปลง ดังกล่าวให้แก่วัดใหม่กระทุ่มล้ม แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเสน่หาและไม่มีค่าตอบแทน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 11 แปลง ของโจทก์ตามฟ้องให้แก่วัดใหม่กระทุ่มล้มโดยเสน่หา และไม่มีค่าตอบแทนถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติไว้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรอันต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ได้บัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามที่มาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรให้อำนาจไว้ โดยขณะที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 11 แปลง ของโจทก์ให้แก่วัดใหม่กระทุ่มล้ม พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่าให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้ (1)…(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่… อันแสดงว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นมิใช่ว่าจะเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงฟังว่าได้ การที่โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 11 แปลง ของโจทก์ตามฟ้องให้แก่วัดใหม่กระทุ่มล้ม ถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ตาม แต่ผู้ที่โจทก์โอนที่ดินทั้ง 11 แปลง ให้นั้นมีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และเป็นการโอนให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ทั้งปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินดังกล่าวติดต่อเป็นผืนเดียวกันและอยู่ติดกับที่ดินที่ตั้งวัดใหม่กระทุ่มล้ม ปัจจุบันใช้ในการจัดกิจกรรมของวัดและเป็นลานกีฬาของชุมชน แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ที่ต้องการบริจาคที่ดินทั้ง 11 แปลง เพื่อเป็นการกุศลให้ใช้เป็นสถานที่ทางศาสนาและสาธารณประโยชน์โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าหรือหากำไรเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง การโอนที่ดินดังกล่าว จึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่จำต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share