คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1โดยมีจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่1ซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1070,1077(2),1080ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่1เด็ดขาดคดีถึงที่สุดจำเลยที่2ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ต่อโจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2527 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 18 มกราคม2527 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 646,066.66 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 477,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 และงวดต่อ ๆ ไป ภายในวันที่10 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนหนี้ หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดทุกงวด จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที และจำเลยทั้งสองยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนให้โจทก์พร้อมกับการชำระหนี้ในงวดแรก นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและติดตามทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีพฤติการณ์ประวิงการชำระหนี้ โดยปิดสถานที่ประกอบกิจการค้าและย้ายไปจากเคหสถานที่เคยอยู่อาศัยเพราะจะจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามคำพิพากษารวมต้นเงินและดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,271,289.44 บาทซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่ได้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสองตกลงจะชำระเงินให้โจทก์ 646,066.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 477,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละไม่น้อยกว่า10,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527และงวดต่อไปภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที และจำเลยทั้งสองยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนให้โจทก์พร้อมกับการชำระหนี้งวดแรก หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาตามยอม และหมายบังคับคดีเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 เฉพาะดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน625,222.84 บาท เมื่อรวมกับต้นเงินแล้วเป็นเงิน 1,271,289.44 บาทและจำเลยที่ 1 ปิดสถานที่ประกอบกิจการค้าขาย จำเลยที่ 1เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์นำสืบเรื่องทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ยังคลุมเครือ จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาทสามารถผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในมรดกของภรรยาจำเลยที่ 2 จากที่ดินตามภาพถ่ายโฉนดท้ายฎีกาจำเลยที่ 2 จึงยังมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070, 1077(2), 1080 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และจำเลยที่ 2เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2เด็ดขาดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share