แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ใช้ทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยเดินผ่านเข้าออกไปสู่ถนนตั้งแต่บิดามารดาโจทก์ซื้อที่ดินมา นับเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อจำเลยซื้อที่ดินมาจำเลยก็ทราบว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเดินเข้า ออกจากบ้านโจทก์ไปสู่ถนนระยะเวลาการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึง ไม่สะดุดหยุดลง ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมตามกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่3976 ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาจากพลโทประเสริฐ รอดวรรณะเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2518 ที่ดินแปลงของโจทก์กับแปลงของจำเลยนี้เดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 ต่อมาเมื่อปี2492 นายกลีบ นางสาย โภคัยเจริญ บิดามารดาโจทก์ได้ขอแบ่งซื้อแล้วรังวัดแบ่งแยกออกมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3976 แล้วปลูกบ้านเลขที่ 199 เป็นที่อยู่อาศัยในปีเดียวกัน เมื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3976 ออกมาแล้วบิดามารดาโจทก์ก็เดินผ่านที่ดินโฉนดเดิมคือเลขที่ 2540 เข้าออกเพื่อไปสู่ถนนซอยหลังสวน โดยใช้เดินมาตั้งแต่ครั้งบิดามารดาปลูกบ้าน ขณะนั้นทางเดินเป็นที่โล่งและเป็นทางดินไม่มีรั้วล้อม เมื่อโจทก์ได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้จากบิดามาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2511 โจทก์ก็ได้ใช้ทางเดินเดิมตลอดมาจนเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2515 ได้มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 ออกไปอีก 3 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 8660, 8661 และ 8662 ตามลำดับ โดยมีการคงเหลือโฉนดเดิมเลขที่ 2540 ไว้มีสภาพเป็นทางเดินดินโล่ง ๆ กว้าง 2.50 เมตรเพื่อเป็นทางเข้าออกของที่ดินแบ่งแยกทั้งสามแปลง ทางเดินดังกล่าวนี้เป็นทางเดินเข้าออกในที่ของโจทก์มาแต่เดิม ต่อมาเมื่อวันที่18 ธันวาคม 2518 จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660แล้วปลูกบ้านใต้ถุนสูงให้ผู้อื่นเช่า และได้เปลี่ยนสภาพทางเดินเป็นทางรถเข้าออกเทปูนซีเมนต์กว้าง 2.50 เมตร สู่ถนนซอยหลังสวนซึ่งโจทก์ก็ยังคงใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินเข้าออกโดยสงบ และเปิดเผยเจตนาเป็นทางเข้าออกติดต่อกันมาตั้งแต่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโจทก์เป็นเวลาถึง 18 ปีแล้วโจทก์จึงได้สิทธิในทางเดินภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายแต่ปรากฏว่าเมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2528 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วไม้ปิดกั้นทางพิพาทบริเวณส่วนที่ติดกับหน้าบ้านโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ใช้ทางพิพาทไม่ได้ โจทก์ต้องเจาะกำแพงด้านข้างบ้านเป็นช่องกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นทางออกชั่วคราวสู่ถนนซอยหลังสวน โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ครั้งเมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทนายโจทก์ จำเลยทั้งสองก็ได้เปลี่ยนรั้วไม้เป็นกำแพงอิฐบล็อกอย่างถาวรปิดทางพิพาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 3 บริเวณที่เป็นสีแดงในแผนที่กว้าง 2.50 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองรื้อสิ่งปิดกั้นกำแพงอิฐบล็อกออกและให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนทางเดินภาระจำยอมกว้าง2.50 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 ตำบลลุมพินีอำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร หลังจากมีการแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่ 3 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 8660, 8661 และ 8662 แล้วคงเหลือเนื้อที่ดินแปลงโฉนดเดิมเป็นทางเดินเข้าออกในที่ดินแบ่งแยกใหม่ทั้งสามแปลงนี้เท่านั้น มิใช่ทางเดินเข้าออกในที่ดินของโจทก์นับแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแบ่งแยกทั้งสามแปลงได้สร้างประตูและรั้วปิดกั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 มิให้ผู้ใดใช้เป็นทางเดินเข้าออก ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้ส่วนทางพิพาทแต่เดิมโจทก์ก็ไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนซอยหลังสวนได้เพราะผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8661 และ8662 ได้ก่อสร้างประตูรั้วปิดกั้นไว้ ดังนั้น ในวันที่ 8 ธันวาคม2518 จำเลยทั้งสองจึงได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกและใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและเป็นโรงจอดรถโดยสุจริตมีค่าตอบแทน โดยไม่ปรากฏว่าทางพิพาทเป็นทางเข้าออกของโจทก์แต่ประการใด และในวันที่รับซื้อจำเลยทั้งสองก็ได้ก่อสร้างประตูเหล็กใส่กุญแจปิดกั้นระหว่างแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 และแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ของจำเลยทั้งสองไว้มิให้ผู้ใดใช้เป็นทางเข้าออกเพื่อป้องกันทรัพย์สินคงมีเฉพาะจำเลยทั้งสองและบุคคลในครอบครัวของจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ และต่อมาในระหว่างเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2528 จำเลยทั้งสองก็ได้สร้างกำแพงรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์เสีย โจทก์จึงได้นำคดีนี้มาฟ้อง แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนซอยหลังสวนได้เป็นบางครั้ง แต่ก็เป็นการกระทำโดยวิสาสะได้รับอนุญาตจากจำเลยเพราะจำเลยปิดประตูรั้วไว้เป็นประจำ ทั้งการใช้ทางเข้าออกนี้นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรับซื้อมาจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงรั้วปิดกั้นก็เป็นเวลาไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงมิได้ทางภาระจำยอมโดยผลของกฎหมาย โจทก์เองมีทางออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่เดิมแล้ว ปรากฏตามเครื่องหมายเส้นสีดำในเอกสารท้ายคำให้การ เดิมจำเลยทั้งสองรวมทั้งบุคคลอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ดินโจทก์ต่างก็ใช้ถนนสาธารณะเชื่อมสู่ถนนสารสินนี้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้องมีความกว้าง 2.50 เมตร มีความยาวตลอดแนวที่ดินจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองรื้อสิ่งปลูกสร้างกำแพงอิฐบล็อกออก ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนทางเดินภาระจำยอมกว้าง 2.50 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปี 2492 บิดามารดาโจทก์ซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และได้แบ่งแยกออกมาเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3976 จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3443 และปลูกบ้านอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ทางด้านทิศใต้ วันที่ 14 มกราคม 2515 มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2540ออกไปอีก 3 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 8660, 8661 และ 8662โดยจำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ไว้เป็นทางเข้าออกและปลูกบ้านอยู่อาศัยกับเป็นโรงจอดรถ คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่2540 เป็นทางเดินกว้าง 2.50 เมตร อยู่ทางด้านทิศใต้ของโฉนดที่ดินเลขที่ 8661 และ 8662 และอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ทางเดินดังกล่าวออกไปสู่ถนนซอยหลังสวนเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมที่ดินที่แบ่งแยกออกไปทั้งสามแปลง ทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ซึ่งเชื่อมต่อจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2540 โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3976 กับบิดามารดา เมื่อบิดามารดาตายโจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าว ทางด้านทิศตะวันตกที่ดินโจทก์และด้านทิศเหนือที่ดินซึ่งบ้านของจำเลยที่ 1 ปลูกอยู่ติดทางเดินสาธารณะประโยชน์กว้าง 1.20 เมตรทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 มีประตูเปิดออกจากที่ดินของตนไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3976 และ 8660กับที่ดินโฉนดเลขที่ 3443 ของจำเลยทั้งสองเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังมีปัญหาว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ โจทก์มีนางจรูญศรีเสถียรเนตร นายแสวง อาวรธรรม นายโถ เผื่อนจอก นายสมชัยเสถียรเนตรเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ นางจรูญศรี นายแสวงและนายโถใช้ทางเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ของจำเลยทั้งสองออกสู่ถนนซอยหลังสวนมานานหลายสิบปีแล้ว เห็นว่า โจทก์ นางจรูญศรีบุตรโจทก์ นายแสวงและนายโถ ล้วนมีบ้านอาศัยอยู่บริเวณที่ติดต่อกับที่ดินที่ทางพิพาทตั้งอยู่โดยเฉพาะที่ดินโจทก์เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินที่ทางพิพาทตั้งอยู่ด้วย ประกอบกับถนนซอยหลังสวนเป็นซอยที่โจทก์กับพวกที่อาศัยอยู่สามารถออกได้สะดวกกว่าทางด้านหลังที่ดินโจทก์ และตามภาพถ่ายหมาย จ.22 และ จ.23 มีสะพานไม้ทอดผ่านหน้าบ้านโจทก์ ส่วนบ้านจำเลยทั้งสองอยู่หลังบ้านโจทก์และตามภาพถ่ายหมาย ล.6 ทางพิพาทเมื่อถูกปิดกั้นแล้วทำให้ทางเข้าบ้านจำเลยทั้งสองแคบลงมาก รถยนต์แล่นผ่านไม่ได้ จำเลยที่ 1เบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยที่ 1 มีรถยนต์ตั้งแต่ก่อนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ตอนนั้นยังไม่สามารถนำรถยนต์เข้ามาตามทางพิพาทได้ เพราะยังเป็นถนนดินกว้าง 2 เมตร และบางครั้งจำเลยที่ 1 อาศัยเดินผ่านที่ดินนางพรออกสู่ถนนซอยหลังสวน จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านว่า เดิมบริเวณที่เป็นกรอบสีเขียวในแผนที่ท้ายคำให้การเป็นทางเดินสามารถทะลุมาจนออกสู่ถนนซอยหลังสวนได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 ที่ติดกับที่ดินโจทก์เป็นบ่อยาวมาจนถึงส่วนที่เป็นเส้นสีแดง และเดิมมีไม้กระดานปูติดกับดินในบริเวณทางที่เป็นกรอบเส้นสีเขียว นอกจากนี้ตามภาพถ่ายหมาย จ.9 ภาพที่ 8ทางด้านซ้ายมือของถนนไปสู่บ้านโจทก์เป็นรั้วสังกะสีและมีรั้วไม้ปิดกั้นระหว่างที่ดินโจทก์กับที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 บริเวณหน้าบ้านโจทก์เป็นถนนคอนกรีตเชื่อมกับทางพิพาท และก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660 จำเลยทั้งสองขอซื้อที่ดินนางพรตรงบริเวณสามเหลี่ยมที่ศาลกากบาทไว้ในแผนที่ท้ายคำให้การเป็นทางเข้าออกประกอบกับนายประสิทธิ์ รอดวรรณะ พยานจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า เมื่อบิดามารดาโจทก์ซื้อที่ดินไปจากพยานแล้ว พยานไม่ได้หวงห้ามที่โจทก์และญาติพี่น้องใช้ทางพิพาท และบ้านโจทก์กับพวกมีสะพานไม้เดินไปมาหากัน พยานเคยเดินจากบ้านพยานผ่านทางพิพาทไปบ้านโจทก์ นายประสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่8661 ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความของนายประสิทธิ์น่าเชื่อประกอบกับโจทก์ปลูกสร้างรั้วบ้านโดยร่นเข้ามาในที่ดินของโจทก์เพื่อเว้นที่ว่างไว้ตรงบริเวณที่ติดต่อกับทางพิพาทสามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ และหลังจากจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660แล้วยังทำถนนไปจนจรดประตูบ้านโจทก์อีก แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับสิทธิของโจทก์ในการใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกไปสู่ถนนซอยหลังสวนพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสองฟังได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาท เดินผ่านเข้าออกไปสู่ถนนซอยหลังสวนมาตั้งแต่บิดามารดาโจทก์ซื้อที่ดินจากนายประสิทธิ์ ซึ่งนับเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว และเมื่อจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8660จำเลยทั้งสองก็ทราบว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกจากบ้านโจทก์ไปสู่ถนนซอยหลังสวน ระยะเวลาการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงไม่สดุดหยุดลง ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมตามกฎหมาย…”
พิพากษายืน.