คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอ้างว่าได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์เนื่องจากถูกข่มขู่ บันทึกดังกล่าวเป็นโมฆียะ แต่ปรากฏว่าหลังจากเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะตามที่จำเลยอ้างนั้นสิ้นไปแล้ว จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดว่าจะบอกล้างบันทึกข้อตกลงในภายหลัง ต้องถือว่าจำเลยให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่าจะชำระราคาที่ดินที่ค้างให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ภายในกำหนดก็ยอมเสียดอกเบี้ยตามกฎหมาย จึงขอให้จำเลยชำระ

จำเลยให้การว่า บันทึกข้อตกลงที่โจทก์นำมาฟ้องมิได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและเจตนาของจำเลย แต่จำเลยต้องทำเพราะถูกบังคับขู่เข็ญข้อตกลงจึงเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอ้างว่าจำเลยทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์เนื่องจากโจทก์ร้องเรียนต่อกองบัญชาการคณะปฏิวัติ แล้วเจ้าหน้าที่ของกองบัญชาการคณะปฏิวัติซึ่งมีพันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นหัวหน้าได้เรียกตัวจำเลยไปขู่เข็ญบังคับให้ทำ บันทึกดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ แต่ปรากฏว่าหลังจากจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ได้เดินทางออกไปจากประเทศไทยแล้วนานถึง 2 เดือน ซึ่งอิทธิพลของบุคคลเหล่านี้ย่อมหมดสิ้นไป จำเลยก็ยังนำดอกเบี้ยไปชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะตามที่จำเลยอ้างนั้นได้สูญสิ้นไปแล้วและการที่จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์โดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดว่าจะบอกล้างบันทึกข้อตกลงในภายหลังต้องถือว่าจำเลยให้สัตยาบันแก่นิติกรรมรายนี้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 142 จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงเรื่องบันทึกข้อตกลงว่าเกิดจากการข่มขู่หรือไม่อีก

พิพากษายืน

Share