คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายจ้างลดวันทำงานของลูกจ้าง 9 คน จาก 6 วันเหลือ 2 วันต่อสัปดาห์ เพราะยื่นข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา121(1) คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดฟ้องกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในฐานะกรรมการและแทนประธานกรรมการให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่คนงาน 9 คน เพราะโจทก์มิได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ 69/2517ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยนายสง่า ว่องไวกิจวัฒนา เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประกอบกิจการกลึงเหล็ก มีคนงานหรือลูกจ้างในแผนกโรงกลึง 16 คน ในแผนกผลิตกระป๋อง 50 คน เมื่อวันที่ 11มิถุนายน 2518 ลูกจ้างทั้งสองแผนกเรียกร้องต่อโจทก์นายจ้างขอขึ้นค่าแรงงานและขอให้จ่ายค่าชดเชยในวันหยุดตามประเพณีย้อนหลังไป 2 ปี กรมแรงงานเรียกไกล่เกลี่ย ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้และจ่ายเสร็จสิ้นไปแล้วแต่วันที่ 30กรกฎาคม 2518 ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2518 โจทก์ปิดประกาศตามเอกสารหมาย ล.1 ลดวันทำงานของลูกจ้าง 9 คนคือ นายสมโภชน์กับพวก ปรากฏรายชื่อตามฟ้อง ซึ่งเป็นลูกจ้างในแผนกโรงกลึงจากสัปดาห์ละ 6 วันเป็นสัปดาห์2 วัน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2518 นายสมโภชน์กับพวกไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่กรมแรงงาน เจ้าหน้าที่กรมแรงงานนัดโจทก์กับลูกจ้าง 9 คนนั้นมาพร้อมกันแล้วไกล่เกลี่ย แต่ตกลงกันไม่ได้ และวันที่ 20 สิงหาคม 2518 นายสมโภชน์กับพวกร้องเรียนต่อกรมแรงงาน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทำการสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 15/2518 ดังกล่าวข้างต้น

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง(1) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้นัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน” จะได้วินิจฉัยว่าการที่โจทก์นายผิดที่จ้างประกาศลดวันทำงานตามปกติของลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างหรือไม่ โจทก์นำสืบยอมรับว่าลูกจ้าง 9 คนซึ่งได้แก่นายสมโภชน์กับพวกตามฟ้องในแผนกโรงกลึงได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างจริงก่อนประกาศลดวันทำงาน แต่โจทก์ฎีกาโต้เถียงว่า ข้อเรียกร้องนั้นยุติไปแล้ว การประกาศของโจทก์จึงไม่ใช่ผลสืบเนื่องมาจากการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเรียกร้องนั้นยุติจริงเพราะโจทก์ยินยอมตกลงและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องแล้ว แต่ผลของการเรียกร้องนั้นหาหยุดยั้งไม่ กล่าวคือในวันนัดจ่ายเงินนัดแรกคือวันที่ 12 กรกฎาคม 2518 โจทก์ไม่จ่ายเงินโดยขอผัดไป และโจทก์อ้างเหตุต่อเจ้าหน้าที่กรมแรงงานว่าหาเงินไม่ทัน และว่าคนงานในแผนกโรงกลึง ซึ่งหมายถึงลูกจ้าง 9 คนนั้นเป็นผู้ยุยงคนงานในแผนกผลิตกระป๋องให้ขอรับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและพักผ่อนประจำปีด้วยการกล่าวหาเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินไม่ใช่เพราะหาเงินไม่ทันแต่เป็นเพราะมีความโกรธเคืองลูกจ้าง 9 คนนั้น จึงแกล้งไม่จ่ายเงิน สาเหตุโกรธเคืองดังกล่าวนี้เองเป็นชนวนจูงใจโจทก์ให้ออกประกาศลดวันทำงานของลูกจ้างการกระทำของโจทก์ที่ลดวันทำงานจึงเนื่องมาจากเหตุที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง ลูกจ้าง 9 คนดังกล่าวเป็นลูกจ้างรายวันมีวันทำงานตามปกติสัปดาห์ละ 6 วัน และยังมีงานทำนอกเวลาในเวลากลางคืนเป็นบางครั้งอีกด้วย การลดวันทำงานจึงคงเหลือหนึ่งในสามของวันทำงานตามปกติ ย่อมเห็นได้ชัดว่ารายได้ไม่พอแก่การดำรงชีพอย่างแน่นอน และการออกประกาศลดวันทำงานก็ใช้เฉพาะลูกจ้าง9 คนเท่านั้น ในจำนวนลูกจ้าง 16 คน มิได้ใช้ทั่วไปสำหรับคนงานอื่นทั้งหมดของโจทก์ด้วย จึงเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยเฉพาะเพื่อบีบบังคับให้ลูกจ้าง9 คนนั้นออกจากงานโดยทางอ้อม ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นย่อมเพียงพอที่จะฟังว่า การที่โจทก์ลดวันทำงานเป็นการกระทำอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง 9 คนไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องตาม มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงมีอำนาจทำคำสั่งตามมาตรา 81(8) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 29/2518 ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

ที่โจทก์ฎีกาว่า การลดวันทำงานเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 13 และต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามมาตรา 16, 21นั้นหาตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดีนี้ไม่”

พิพากษายืน

Share