แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำนองที่นามือเปล่า 1 แปลงไว้กับจำเลย โดยมีข้อสัญญาว่าถ้าครบ 3 ปี ไม่ไถ่โจทก์ยอมยกที่นารายนี้ ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยเมื่อครบ 3 ปีแล้วโจทก์ไม่สามารถไถ่คืน จึงมอบที่ให้จำเลยครอบครองตลอดมาเป็นเวลา15 ปี ดังนี้ แม้สัญญาจะไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 ก็ดี ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลยตลอดมา 15 ปี เป็นการล่วงเลยกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญานานแล้ว กรณีมีเหตุแสดงว่าจำเลยครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของและทั้งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน ดังนี้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น เมื่อโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ก็ต้องถือว่าที่พิพาทตกเป็นสิทธิแก่จำเลยแล้ว (อ้างฎีกา279/2490)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2472 โจทก์ได้จำนองที่นาโจทก์ไว้กับจำเลย โดยทำหนังสือและจดทะเบียนต่ออำเภอและได้ให้จำเลยทำนารายนี้ต่างดอกเบี้ยตลอดมา ครั้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2489 โจทก์ไปขอไถ่ จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับและให้จำเลยออกจากที่รายนี้ จำเลยให้การว่า โจทก์ได้เอานารายที่ฟ้องมาจำนำจำเลยไว้ 3 ปี โดยโจทก์เป็นผู้ทำนาทุกปีตามสัญญามีว่าโจทก์จะต้องไถ่นารายนี้คืนภายใน 3 ปี ถ้าครบ 3 ปีไม่ไถ่ โจทก์ยอมยกที่นารายนี้ให้เป็นสิทธิแก่จำเลย เมื่อครบ 3 ปีโจทก์ไม่สามารถไถ่คืนจึงมอบที่นารายนี้ให้จำเลยเป็นกรรมสิทธิ์จำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองตลอดมาจนบัดนี้โดยสงบและเปิดเผย โจทก์ไม่มีสิทธิขอไถ่คืน และไม่เคยยินยอมให้โจทก์ไถ่คืน
คู่ความรับกันว่า ที่พิพาทเป็นที่นามือเปล่า ได้ทำสัญญาที่ทำต่อกรมการอำเภอไว้จริง โจทก์อ้างว่าตามข้อสัญญาที่ว่าให้ผู้จำนำไถ่ได้ภายใน 3 ปี หากไม่ยอม ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์นั้นตกเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนกฎหมาย คู่ความไม่ติดใจสืบพยานศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนนาให้โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อตกลงดังกล่าวไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 ก็ดี แต่ที่รายนี้เป็นที่มือเปล่า คดีนี้รับกันว่าที่พิพาทตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยตลอดมา 15 ปี เป็นการล่วงเลยกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญานานแล้วกรณีมีเหตุแสดงว่าจำเลยได้ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของและทั้งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน ดังนี้ คดีนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น เมื่อโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยาน ก็ต้องถือว่าที่พิพาทตกเป็นสิทธิแก่จำเลยแล้ว
พิพากษากลับ ยกฟ้อง