แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมจดทะเบียนจำนองที่ไว้แก่เขาภายหลังตกลงเปลี่ยนเป็นทำสัญญาจดทะเบียนขายฝากดังนี้ เป็นการแปลงหนี้จำนองเดิมเป็นขายฝากสัญญาจำนองเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปในตัว บังคับตามสัญญาขายฝากได้โดยไม่จำต้องจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาจำนองเดิมเสียก่อน
การตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างอยู่กว่า 5 ปีตามสัญญาจำนองมาคิดรวมเป็นต้นเงินในสัญญาขายฝากที่ทำขึ้นใหม่นั้นหาต้องห้ามตามกฎหมายไม่
ย่อยาว
ได้ความว่า เดิมโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่พิพาทไว้แก่จำเลยเป็นเงิน200 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แล้วจำเลยได้เช่าที่จำนองนี้ส่วนหนึ่งปลูกเรือนอยู่ ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแปลงหนี้จำนองเดิมเป็นจดทะเบียนขายฝากโดยเพิ่มต้นเงินขึ้นอีก 160 บาทรวมเป็นต้นเงิน 360 บาท ต้นเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ โจทก์ยอมให้คิดจากดอกเบี้ยจำนองเดิมที่ค้างอยู่กว่า 5 ปีแล้ว ตามสัญญาขายฝากกำหนดเวลาไถ่ถอนไว้ 2 ปี ครบกำหนดโจทก์ไม่ไถ่คืน จำเลยจึงเอาที่เป็นสิทธิ ส่วนค่าเช่าเดิมครั้งยังจำนองอยู่ จำเลยได้ชำระให้โจทก์ไปเสร็จแล้ว
บัดนี้โจทก์มาฟ้องขอให้ทำลายสัญญาขายฝาก อ้างว่าถูกกลฉ้อฉล
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การขายฝากทำกันโดยสุจริต พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ตกลงเปลี่ยนเป็นทำสัญญาจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยแล้ว ก็เป็นการแปลงหนี้จำนองเดิมเป็นขายฝากสัญญาจำนองเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปในตัว บังคับตามสัญญาขายฝากได้โดยไม่จำต้องจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาจำนองเดิมเสียก่อน และการที่ตกลงเอาดอกเบี้ยที่ค้างอยู่กว่า 5 ปี มาคิดรวมเป็นต้นเงินในสัญญาขายฝากด้วยนั้น ก็หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่ จึงพิพากษายืน