คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งอย่างไร เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าห้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 นั้น ไม่แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องแถวซึ่งเดิมรวมอยู่ในบ้านทะเบียนเลขที่ ๗๑/๖ ปลูกอยู่ในที่ดินซึ่งโจทก์เช่าจากผู้มีชื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โจทก์ที่ ๑ มอบให้จำเลยที่ ๒ ไปขอเลขทะเบียนบ้านเป็นเลขหมายทะเบียนที่ ๑๑๙/๓๖, ๑๑๙/๓๗, ๑๑๙/๓๘ ผู้ให้เช่าที่ดินเดิมถึงแก่กรรม โจทก์เช่าจากผู้จัดการมรดก ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๕ ผู้จัดการมรดกแยกโฉนดเดิม โดยห้องแถวสามห้องอยู่ในเขตโฉนดที่ ๑๘๓๗๒ ส่วนหนึ่ง และเลขที่ ๑๘๓๗๓ อีกส่วนหนึ่ง โฉนดที่ ๑๓๘๗๒ เปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองร่วมกันด้วยเจตนาทุจริตนำเอาความซึ่งตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่า ห้องแถว ๓ ห้องที่จำเลยที่ ๒ เคยขอทะเบียนบ้านแทนโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มอบให้จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมซื้อขายห้องแถว ๓ ห้องนั้นให้แก่จำเลยที่ ๑ เอง แต่โจทก์ที่ ๒ ได้อายัดห้องเลขที่ ๑๑๙/๓๖ ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองจึงทำนิติกรรมสำเร็จไปเพียง ๒ ห้องเท่านั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงกรรมสิทธิ์ห้องแถวเลขที่ ๑๑๙/๓๗, ๑๑๙/๓๘ จากโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๔๑
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งอย่างไร การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าห้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ นั้น ไม่แสดงว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษายืน

Share