แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทราบนัดชี้ สองสถานแล้ว แต่ไม่มาศาลตามนัด ศาลชี้ สองสถานโดยกำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตก จำเลย และนัดสืบพยานจำเลยพร้อมกับนัดฟังคำพิพากษา เช่นนี้ถือว่าจำเลยทราบวันนัดแล้ว โดยไม่ต้องแจ้งจำเลยอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องต้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ในวันนัดสืบพยานจำเลย หากทนายจำเลยติดว่าความในคดีที่ศาลอื่น จำเลยชอบที่จะแจ้งเหตุขัดข้องหรือยื่นคำขอเลื่อนคดีเสียในวันนัดหรือก่อนวันนัด จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายนั้นไม่มีเหตุผลที่จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1465ตำบลทับยาว อำเภอแสนแสบ (เจียระดับ) จังหวัดมีนบุรี คืนแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่า จำเลยจะส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 2 ตกลงขายที่พิพาทแก่จำเลยจึงได้มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์ที่ 2 จะไม่ขายที่ดินแปลงนี้ให้กับผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและไม่มีพยานมาสืบ พิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์
ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าไม่จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแล้วอ่านคำพิพากษาไปวันเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องดังกล่าวของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว จำเลยยื่นคำให้การวันที่ 26 ตุลาคม 2527ศาลชั้นต้นสั่งนัดชี้สองสถานในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527 จำเลยทราบนัดแล้ว เมื่อถึงกำหนดวันชี้สองสถานดังกล่าว ทนายโจทก์ที่ 2 มอบฉันทะให้นายขจรศักดิ์ โพธิพันธ์ มาศาลแทน ส่วนโจทก์ที่ 1 และจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยมีสิทธิที่จะยึดโฉนดตามฟ้องของโจทก์ไว้หรือไม่ ซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 24 ธันวาคม 2527 เวลา 13.30 นาฬิกา และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 ธันวาคม 2527 เวลา 13.30 นาฬิกา ปรากฏรายละเอียดตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527 เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527 มาตรา 8 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2527 ได้บัญญัติไว้ว่าให้คู่ความมาศาลในวันชี้สองสถาน ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาล ให้ถือว่าได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นแล้ว เมื่อศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยและวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ศาลทำการชี้สองสถานดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะไม่ได้มาศาล ก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทราบวันนัดทั้งสองแล้วโดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสอง ฉะนั้นเมื่อถึงกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 24 ธันวาคม 2527เวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยจึงต้องมาศาลตามนัด แต่จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยไม่มีพยานมาสืบประการหนึ่ง และจำเลยขาดนัดพิจารณาอีกประการหนึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 ธันวาคม 2527 ปัญหาว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง ความว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” และมาตรา 202 บัญญัติว่า “ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดคดีนั้นไปฝ่ายเดียวฯ” เมื่อบทบัญญัติมาตรา 183 วรรคสองให้ถือว่าจำเลยทราบวันนัดสืบพยานจำเลยแล้ว และจำเลยไม่มาศาลในวันนัดดังกล่าวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ จึงต้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเหมือนกัน
ปัญหาว่า จำเลยร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 ทนายจำเลยยื่นคำร้องอ้างเหตุ 2 ประการกล่าวคือ ทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำที่ 23953/2527 ระหว่าง นายเจริญ จิรารยะพงศ์ โจทก์ นายประสิทธิ์สิทธิ์วัฒนชัย จำเลย ประการหนึ่ง กับทนายจำเลยอ้างว่า ทนายจำเลยยังไม่ทราบว่าได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับอีกประการหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลอาญานั้น หากเป็นความจริงทนายจำเลยก็ย่อมจะทราบวันนัดดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว จึงชอบที่จะต้องมาแจ้งเหตุขัดข้องหรือยื่นคำขอเลื่อนคดีในวันสืบพยานหรือก่อนวันนั้น แต่จำเลยก็หาได้ยื่นคำขอดังกล่าวไม่ กรณีของจำเลยจึงเป็นการขาดนัดพิจารณาโดยจงใจ และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ส่วนกรณีที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่ากฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 ตุลาคม2527 โดยมีมาตรา 2 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” ซึ่งหมายความว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม2527 และเป็นการใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วประเทศ ทนายจำเลยจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามที่จำเลยต้องการไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ศาลฏีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.