คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีที่ต้องนำสืบความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เมื่อจำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์เอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญไปเท่าใด ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ เพราะเป็นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1219(2)แม้จะมิได้กำหนดไว้ในตาราง 1 ถึง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมอื่นที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียตามมาตรา 161 วรรคสอง จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อว่า เป็นลายมือชื่อของคนคนเดียวกันหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ดังจำเลยแถลงไว้ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้เชี่ยวชาญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์ก็มี อำนาจที่จะสั่งแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมส่วนใดส่วนหนึ่งได้ถ้าหากเห็นเป็นการสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคแรกและมาตรา 167 วรรคแรก การที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์รับผิดในค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน2,692,098.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีจากต้นเงิน 938,326.55 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน1,670,273.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจาก ต้นเงิน 1,000,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 83/8 หมู่ที่ 6 ถนนบางบอน-ชายทะเล แขวงแสมดำเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยที่ 2ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 37217 แขวงแสมดำ (บางบอน)เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ส่วนที่ยังขาดให้ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,692,098.76 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน781,532.18 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน1,000,000 บาท นับจากวันฟ้อง (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534)ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และไถ่ถอนจำนองสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 83/8 หมู่ที่ 6 ถนนบางบอน-ชายทะเล แขวงแสมดำ (บางบอน)เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือสัญญาจำนองสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเอกสารหมาย จ.13 ด้วยการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินแก่โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญารับชำระหนี้และดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 1,670,273.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง ไปจนกว่าจะชำระเสร็จและไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 37217 แขวงแสมดำ (บางบอน) เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.14ด้วยการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ยึดสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 83/8 และที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองตามสัญญาจำนองถ้าได้เงินไม่พอชำระให้จำเลยรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองที่ดินวันที่28 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนค่าตรวจพิสูจน์เอกสารให้โจทก์เป็นผู้ชำระ กำหนดค่าทนายความ รวม 2,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาให้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เอกสารค่าธรรมเนียมดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ตามตาราง 1 ถึง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อีกทั้งการตรวจพิสูจน์มิได้กระทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ชอบนั้น เห็นว่าโจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ปลอมจำเลยที่ 2 จึงต้องนำสืบความเห็นผู้เชี่ยวชาญจำเลยที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ไปเท่าใดศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ เพราะเป็นค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 129(2) แม้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะมิได้กำหนดไว้ในตาราง 1 ถึง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตามแต่ก็ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมอื่นที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคสองส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการตรวจพิสูจน์เอกสารดังกล่าวมิได้กระทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นวันที่ 26 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 2ขอให้ศาลชั้นต้นส่งเอกสารอื่นกับสำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมาย จ.15 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อว่า เป็นลายมือชื่อของคนคนเดียวกันหรือไม่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ดังจำเลยที่ 2แถลงไว้ ดังนี้ถือว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 แล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ตกเป็นพับแก่จำเลยที่ 2 นั้นเห็นว่า การกำหนดความรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับคู่ความนั้นศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคแรกไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจักมีคำขอหรือไม่ ก็ให้ศาลสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 167 วรรคแรก คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ถ้าหากเห็นเป็นการสมควรที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดในค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เอกสารนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share