คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4193/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อบริษัท ส. และบริษัท ว. ผู้ส่ง กับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง ได้ตกลงกันชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 และมีผลให้บริษัททั้งสองไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัททั้งสองซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงเท่าที่สิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่ แม้โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัททั้งสองไปก็เป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับบริษัททั้งสอง แต่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิจากบริษัททั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 253,635 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 242,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 515,250บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 491,613 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งกระจกของบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. จำกัด และบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. กระจกนิรภัย จำกัด ที่จะเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกกระจกดังกล่าวไปส่งลูกค้าในระหว่างทางกระจกแตกเสียหาย และเมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2536 นายประดิษฐ์ พรวิเศรษฐสิริกุล ขับรถยนต์บรรทุกกระจกดังกล่าวระหว่างทางรถยนต์บรรทุกพลิกคว่ำทำให้กระจกแตกเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว บริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. จำกัด และบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. กระจกนิรภัย จำกัด ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับขนกระจกในราคาเที่ยวละ 2,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ไม่รับประกันความเสียหายของสินค้า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งบริษัททั้งสองได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับขนจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของบริษัททั้งสองโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยซึ่งข้อเท็จจริงเชื่อว่าความเสียหายของกระจกเกิดจากจำเลยที่ 1 หักหลบรถยนต์บรรทุกกระบะพ่วงที่แซงขึ้นมาอย่างกะทันหัน ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 อันจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อีกพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ไม่รับประกันความเสียหายของสินค้าที่ขนส่ง เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. จำกัด และบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. กระจกนิรภัย จำกัด กับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า เมื่อบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี. จำกัด และบริษัทสยามวี.เอ็ม.ซี. กระจกนิรภัย จำกัด ผู้ส่ง กับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งได้ตกลงกันชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 และมีผลให้บริษัททั้งสองไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัททั้งสองซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพียงเท่าที่สิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่ แม้โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัททั้งสองไปก็เป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับบริษัททั้งสอง แต่หาอาจก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิจากบริษัททั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5809/2539 ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมาสืบพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามบทบัญญัติมาตรา 437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หน้าที่นำสืบตกแก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นโดยปราศจากสงสัยว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่าในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 นำสืบว่าขณะขับรถมาถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกกระบะพ่วงขับแซงยังไม่พ้นแล้วหักหลบมาทางซ้ายเนื่องจากเห็นเจ้าพนักงานตำรวจจราจรยืนอยู่ด้านหน้า จำเลยที่ 1 จึงขับรถหักมาทางซ้ายแต่หักมากไม่ได้เพราะติดราวสะพาน แล้วจำเลยที่ 1 หักรถมาทางขวาช่องทางปกติเชือกซึ่งยึดกระจกที่บรรทุกมาขาด ทำให้กระจกไปตีกระบะด้านซ้ายหักและกระจกล้มไปพาดราวสะพาน จำเลยที่ 1 หยุดรถได้ทันทีกระจกจึงไม่ตกไปที่พื้นสอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.4ที่ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถหักหลบรถที่แซงขึ้นมาทำให้กระจกตกหล่นเกิดความเสียหาย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเฉี่ยวชนราวสะพาน การนำกระจกขึ้นบรรทุกกระบะท้ายรถไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของบริษัทสยาม วี.เอ็ม.ซี.จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ สภาพการบรรทุกกระจกไม่มั่นคงเพียงพอ หากจำเลยที่ 1 ไม่หักหลบย่อมเกิดเหตุเฉี่ยวชนและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมาสืบพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท จึงเชื่อว่าความเสียหายเกิดจากการหักหลบรถยนต์บรรทุกกระบะพ่วงที่แซงขึ้นมาอย่างกะทันหัน หาใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนราวสะพาน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยดังนี้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไว้ชัดแจ้งแล้ว มิได้วินิจฉัยแต่เพียงว่า โจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมาพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาจึงฟังได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 1แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share