คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4192/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ขายเรือต่อให้โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2ผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 1 ควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนเรือของโจทก์ที่ 1 เสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ และถูกคนร้ายลากจูงไป การที่โจทก์ที่ 1 จะต้องไปหาซื้อเรือต่อลำอื่นที่มีสภาพใกล้เคียงกับเรือต่อลำเกิดเหตุมาจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ที่ 2 ในราคาที่สูงกว่าราคาค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ที่ 1 นั้น เป็นเรื่องที่ไกลกว่าเหตุนอกเหนือความรับผิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนั้น ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคแรก อย่างหนึ่งดังนั้น ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือต่อหมายเลขทะเบียน กท.0139 น้ำหนักบรรทุก 35.94 ตันกรอสโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเรือดังกล่าวและนำเรือไปรับจ้างบรรทุกข้าวสารจากโรงสีข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำไปส่งยังโกดังเก็บข้าวสารที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2528 จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้ควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 1 ซึ่งบรรทุกน้ำมันจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทโฉมหน้าไปยังคลังเก็บน้ำมันที่แขวงช่องนนทรีย์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้เรือบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 1 ชนเรือของโจทก์ที่ 1 ซึ่งจอดรอการขนถ่ายข้าวสารเข้าเก็บในโกดังอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งสำโรงจมลง เรือโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้และถูกคนร้ายลากจูงเอาไป ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย หากจะซื้อมาทดแทนจะหาได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 สูญหายรวม29 รายการ เป็นเงิน 181,200 บาท โจทก์ที่ 2 จ่ายค่ารักษาพยาบาล นางประนอม ยิ้มทรัพย์ ภริยาโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจากถูกเรือจำเลยที่ 1 ชนเป็นเงิน 2,000 บาทค่าขาดประโยชน์จากการที่เรือโจทก์ที่ 1 ถูกชนจนใช้การไม่ได้ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถนำเรือไปรับจ้างขนข้าวสารนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน เดือนละ 23,080 บาทเป็นเงิน 138,480 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 จำนวน321,680 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 321,680 บาท แก่โจทก์ที่ 2พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นรายเดือนเดือนละ 23,080 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า เรือหมายเลขทะเบียนกท.0139 เป็นเรือเก่าราคาไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 1เสียหายไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 มิได้เสียหายตามฟ้อง ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 เรียกร้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวนเงิน 90,200 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน30,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 93,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2528 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเพียงประเด็นเดียว คือ ประเด็นเรื่องค่าเสียหายในส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าการที่เรือต่อลำเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 ถูกเรือของจำเลยที่ 1ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นกัปตันชนจม เรือต่อของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเพียงจำนวน 150,000 บาท ไม่คุ้มกับความเสียหายที่โจทก์ที่ 1ได้รับนั้น เห็นว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 โจทก์ที่ 1ได้ทำสัญญาขายเรือต่อลำเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ปรากฎตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งตรงกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และตรงกับคำให้การของโจทก์ที่ 2 ต่อพนักงานสอบสวนตามสำเนาคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 เอกสารหมาย จ.21 จากข้อนำสืบของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวแสดงว่าในขณะที่โจทก์ที่ 1ขายเรือต่อลำเกิดเหตุให้แก่โจทก์ที่ 2 หรือเมื่อปี 2523เรือต่อลำเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 มีราคาเพียง 150,000บาท เท่านั้น และเมื่อขายไปแล้วได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 ได้นำเรือต่อลำดังกล่าวไปรับจ้างบรรทุกข้าวสารตลอดมา การที่โจทก์ที่ 2 นำเรือต่อลำเกิดเหตุไปใช้งานติดต่อกันนับถึงวันเกิดเหตุนานถึง 4 ปีเศษ ราคาของเรือต่อลำเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 น่าจะมีราคาลดลงตามระยะเวลาและตามสภาพของการใช้งานมากกว่าการที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายประเสริฐ สุขสมบูรณ์เลิศ พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งมีอาชีพรับจ้างต่อเรือ ทำคานเรือ และซ่อมเรือ และเป็นผู้ซ่อมเรือต่อลำเกิดเหตุครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2527 ก็เบิกความว่า เรือต่อลำเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 เป็นเรือต่อใช้งานแล้ว สามารถขายได้ในราคา 100,000 บาท ถึง 200,000 บาทเท่านั้น เมื่อพิจารณาราคาขายเรือต่อลำเกิดเหตุระหว่างโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ร่วมกับระยะเวลาแห่งการที่โจทก์ที่ 2นำเรือต่อลำนั้นไปใช้งานหลังจากโจทก์ที่ 1 ขายแล้วเห็นว่าการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นค่าเรือต่อลำเกิดเหตุที่เสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท หรือเท่ากับราคาขายเมื่อปี 2523 นั้นเหมาะสมแล้ว ข้อฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ว่า โจทก์ที่ 1 จะต้องซื้อเรือต่อลำอื่นมาจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ที่ 2 สูงกว่าจำนวนเงิน 150,000 บาท เป็นเรื่องที่ไกลกว่าเหตุ นอกเหนือความรับผิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนั้น
ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุ ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท น้อยเกินไป เพราะความจริงโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ 16,000 บาท นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องรวมเวลา 6 เดือนเป็นเงินจำนวน 96,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ที่ 2 เบิกความว่าจากการที่เรือต่อลำเกิดเหตุถูกเรือของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นกัปตันชนจนได้รับความเสียหายทั้งลำ ทำให้โจทก์ที่ 2 ขาดรายได้จากการไม่ได้ใช้เรือต่อลำดังกล่าวรับจ้างบรรทุกข้าวสารเที่ยวละ 4,000 บาทหรือเดือนละ 16,000 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความรับว่าในชั้นสอบสวนโจทก์ที่ 2 ได้เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามสำเนาคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 เอกสารหมาย จ.21ซึ่งมีข้อความว่า โจทก์ที่ 2 มีรายได้จากการใช้เรือต่อลำเกิดเหตุรับจ้างบรรทุกข้าวสารเดือนละประมาณ 4,000 บาทเท่านั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ 2 ว่าพนักงานสอบสวนจดข้อความเกี่ยวกับรายได้ของโจทก์ที่ 2 ผิด และโจทก์ที่ 2 ผิด และโจทก์ที่ 2 อ่านข้อความที่พนักงานสอบสวนจดบันทึกไว้ไม่ละเอียดเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ กรณีจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 มีรายได้จากการใช้เรือต่อลำเกิดเหตุไม่ถึงเดือนละ 16,000 บาท ดังที่โจทก์ที่ 2 กล่าวในฎีกา ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุให้แก่โจทก์ที่ 2เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือนรวมเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 2 อีกข้อหนึ่งที่ว่า โจทก์ที่ 2ควรจะได้รับค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุนับแต่วันละเมิดตลอดไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ครบถ้วนแล้วเห็นว่า ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438วรรคแรกอย่างหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้เรือต่อลำเกิดเหตุให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share