แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีสามีก็ไม่จำต้องให้สามีให้ความยินยอม
โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะใช้ค่าเสียหายแล้ว โดยอ้างว่ายังมิได้เรียกค่ายาและค่ารักษาพยาบาลไว้ หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายนั้นขาดอายุความไม่
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุและนำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 และปรากฏว่าพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารเป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถโดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายในเหตุแห่งมูลละเมิดซึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1ขณะกระทำการในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 130,800 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีในการฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เหตุชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 รับผิดชอบค่าเสียหายเพียงไม่เกิน3,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 86,210 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2524 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับขี่รถยนต์โดยสารประจำทางสาย 81 หมายเลขทะเบียนกท.จ. 3991 ของจำเลยที่ 2 ซึ่งนำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ชนรถยนต์รับจ้างสามล้อที่โจทก์โดยสารมาพลิกคว่ำเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสศาลแขวงธนบุรีได้พิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9452/2524 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดด้วย และค่าเสียหายกรณีมีแผลเป็นติดตัวกับเสียความสามารถในการดมกลิ่นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์นั้นสูงเกินสมควร และตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ประมาท จำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดด้วย และค่าขาดรายได้พิเศษจากการเฝ้าผู้ป่วยกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นสูงเกินไป
ปัญหาข้อแรกที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น… ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
ปัญหาข้อ 2 เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยสามีมิได้ยินยอม หลังจากโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์ส่งหนังสือความยินยอมของสามีตามเอกสารหมาย จ.6 การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีสามีก็ไม่จำต้องให้สามีให้ความยินยอมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อ 3 ที่ว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 123,195 บาท ต่อมาได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมทุนทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 140,610 บาท โดยอ้างว่ามิได้เรียกค่ายาและค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายส่วนที่เกินจึงขาดอายุความเพราะโจทก์ขอเพิ่มเติมเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะใช้ค่าเสียหายแล้ว เห็นว่าเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลังก็หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 2กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ คดีโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อที่ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้นเห็นว่า เกี่ยวกับรถชนกันนี้… พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางโดยประมาทฝ่ายเดียว
ปัญหาข้อ 5 ที่ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่นายปรีดิ์ วังศกาญจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่ารถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 2 ได้นำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางการเดินรถของจำเลยที่ 3 และปรากฏว่าพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถโดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ก็เป็นลูกจ้างของจำเลยที่3 ด้วย จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่
ส่วนประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับค่าเสียหาย…ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาทแทนโจทก์.