คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะ และโดยจำเลยที่ 2 มีอาวุธติดตัวไปด้วย พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำคุกจำเลยคนละ 18 ปี คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 ปี โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งไม่ชอบ จำเลยทั้งสองไม่ฎีกา เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าในการปล้นทรัพย์นี้จำเลยที่ 2 กับพวกมิได้มีอาวุธแต่อย่างใด แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 มีมีดพกปลายแหลมเป็นอาวุธติดตัวและพกพาไปตามทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันมีมีดพกดังกล่าวร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 83, 371, 90, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และข้อ 15

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า มีคนร้าย 3 คนร่วมกันปล้นเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยคนร้ายใช้รถยนต์เก๋งเป็นพาหนะ แต่พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าคนร้ายมีอาวุธติดตัวไปด้วย แต่ฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้จริงและคดี (ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371) ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้พกพามีดพกปลายแหลมไปในเมืองและทางสาธารณะ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 7 ปี 6 เดือน คำรับชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 10 ปี

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนติดตัวเข้าร่วมปล้นด้วย แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 มีมีดเป็นอาวุธแต่ก็ยังฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวอยู่ ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองตามคำขอของโจทก์ได้ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ลงโทษจำคุกคนละ 18 ปี มีเหตุบรรเทาโทษโดยคำให้การชั้นศาลของจำเลยที่ 1 และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามมาตรา 78 คนละกึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสามของโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนด

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันใช้รถยนต์เป็นพาหนะทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริง แต่เห็นสมควรจะได้พิจารณาเสียก่อนว่า จำเลยที่ 2 ควรมีความผิดสถานใด เพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กับพวกรวม 3 คนได้ร่วมกันกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีมีดพกปลายแหลมเป็นอาวุธติดตัวไปใช้ขู่เข็ญผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์กลับนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีและใช้อาวุธปืนในการกระทำผิด ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่ฟังว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธแต่อย่างใดเลย แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ซึ่งศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีและใช้อาวุธปืนในการปล้น ทั้งคดีก็รับฟังไม่ได้เช่นเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีและใช้มีดเป็นอาวุธในการปล้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การในชั้นสอบสวนว่ามีอาวุธปืนก็ตาม แต่ในคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป และจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาเช่นนี้แล้ว ถ้าโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้รับฟังได้ตามข้อกล่าวหา คดีก็ย่อมจะลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้เท่านั้น ส่วนการลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นเห็นสมควรลดโทษให้เพียง 1 ใน 3 ตามฎีกาโจทก์ อนึ่งคดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม ก็มีเหตุอยู่ในส่วนลักษณะของคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ได้รับผลตามคำวินิจฉัยในชั้นนี้ด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ได้วางบทกำหนดโทษและลดโทษจำเลยทั้งสองเป็นว่า ให้วางบทกำหนดโทษและบังคับคดีลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share