คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นตามผลคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 310, 317, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาเด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนาง ส. ผู้เสียหายที่ 1 มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกและวรรคสาม, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 จำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันโดยปราศจากเหตุสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารกับฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบท ลงโทษตามกฎหมายบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันโดยปราศจากเหตุสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (5) ให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่ให้เกินที่จำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 18 ปี และอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 2 มีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งจำเลยที่ 2 ไปจำคุกในเรือนจำจนครบระยะเวลาตามกำหนด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท ยกฟ้องข้อหาอื่น
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 310 วรรคแรก 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังกับความผิดฐานกระทำชำเราเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นบุตรของผู้เสียหายที่ 1 ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมมีอายุ 11 ปีเศษ (เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2541) และศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับที่โรงเรียนดังกล่าว วันที่ 6 มกราคม 2553 โจทก์ร่วมไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา โจทก์ร่วมไปล้างหน้าที่บริเวณโรงรับประทานอาหารซึ่งอยู่ประตูด้านหลังโรงเรียน จำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ร่วมให้เดินออกมาด้านหลังโรงเรียน จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันลากพาโจทก์ร่วมเข้าไปไว้ภายในห้องในขนำซึ่งเป็นเรือนพักอาศัยที่ปลูกอยู่ภายในสวนยางพาราด้านหลังโรงเรียนดังกล่าว จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโจทก์ร่วมจนสำเร็จความใคร่ สำหรับจำเลยที่ 1 คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฐานความผิดของจำเลยที่ 1 ที่รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และพวกร่วมกันคบคิดนัดหมายกันมาตั้งแต่ต้นด้วยการร่วมกันลากพาโจทก์ร่วมเข้าไปในห้องเกิดเหตุและให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฐานความผิดของจำเลยที่ 1 ที่รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทน ส่วนของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกาในเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม 310 วรรคแรก 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แล้ว สมควรลงโทษจำเลยที่ 2 แต่ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันโดยปราศจากเหตุสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 2 มีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ โดยยังไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือรับการฝึกอบรมยังไม่ครบกำหนดให้ส่งจำเลยที่ 2 ไปจำคุกในเรือนจำจนครบระยะเวลาตามกำหนด ให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share