คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้คำกล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใด นั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย ซึ่งเมื่อนำข้อพิจารณาเช่นว่านี้มาวินิจฉัยประกอบคำพูดอภิปรายของจำเลยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้วมีข้อความโดยรวมบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยมุ่งหมายใส่ความพาดพิงถึงบริษัทโจทก์ซึ่ง ณ. ภริยาของ ส. ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยผู้หนึ่ง และบริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพราะ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโจทก์นั่นเอง คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเช่นนี้ได้ความชัดเจนเพียงพอที่ทำให้ผู้ฟังคำอภิปรายเข้าใจได้ว่าบริษัทที่จำเลยยกตัวอย่างว่าได้รับประโยชน์จากการที่ ส. ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีสรรพสามิต คือ บริษัทโจทก์นั่นเอง หาอาจเข้าใจว่าเป็นบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ไม่โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และให้จำเลยลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวัน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง หนังสือพิมพ์เนชั่นแชนแนล หนังสือพิมพ์เสรีรายวัน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน ขนาดเต็มหน้า โดยให้ลงพิมพ์โฆษณาในหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจการตลาดของหนังสือพิมพ์ในแต่ละฉบับด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสิ้น และให้จำเลยลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ได้แก่หนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายสัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ ขนาดเต็มหน้า โดยให้ลงพิมพ์โฆษณาในหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจการตลาดของหนังสือพิมพ์ในแต่ละฉบับ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 วางโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้เป็นยุติว่า นายแพทย์สุรพงษ์ และนางปราณี เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดปทุมธานี หมายเลขทะเบียนที่ (2) 435/2537 มีนางปราณีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และมีชื่อของนายแพทย์สุรพงษ์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนและสำเนาบัญชีรายชื่อหุ้น ในช่วงเกิดเหตุนายแพทย์สุรพงษ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวมทั้งนายแพทย์สุรพงษ์ด้วย ซึ่งนายแพทย์สุรพงษ์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำอภิปรายด้วยข้อความตามสำเนารายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ครั้งที่ 28 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ซึ่งคณะกรรมาธิการตรวจแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 และสภาผู้แทนราษฎรรับรองในคราวประชุม ครั้งที่ 8/2547 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ในการอภิปรายจำเลยได้กล่าวถ้อยคำถึงการโฆษณาของโจทก์ที่ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2546 นอกจากสภาผู้แทนราษฎรจะถ่ายภาพและบันทึกเสียงการอภิปรายไว้ ยังมีการถ่ายทอดแพร่ภาพและเสียงทางโทรทัศน์ช่อง 11 และแพร่เสียงทางวิทยุทั่วประเทศด้วย หลังจากการอภิปราย วันรุ่งขึ้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ ได้ลงพิมพ์ข่าว หลังเกิดเหตุนางปราณีได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้พูดระบุชื่อบริษัทโจทก์และมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าใครเป็นกรรมการผู้จัดการ นางปราณีเองก็ประกอบธุรกิจหลายบริษัท อีกทั้งการที่จำเลยพูดว่า ชื่อบังเอิญไปเหมือนหรือเปล่าไม่รู้กับผู้ที่แสดงบัญชีทรัพย์สินร่วมกับท่านที่มีทรัพย์สิน 139 ล้านบาท จำเลยมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าต้องเป็นนางปราณีคู่สมรสของนายแพทย์สุรพงษ์เท่านั้น อาจจะเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบุคคลอื่นที่มีทรัพย์สินร่วมกับนายแพทย์สุรพงษ์ก็ได้ นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้คำกล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใด นั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย ซึ่งเมื่อนำข้อพิจารณาเช่นว่านี้มาวินิจฉัยประกอบคำพูดอภิปรายของจำเลยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดแล้วมีข้อความโดยรวมบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยมุ่งหมายใส่ความพาดพิงถึงบริษัทโจทก์ซึ่งมีนางปราณีภริยาของนายแพทย์สุรพงษ์ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยผู้หนึ่ง และบริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพราะนายแพทย์สุรพงษ์ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทโจทก์นั่นเอง คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเช่นนี้ได้ความชัดเจนเพียงพอที่ทำให้ผู้ฟังคำอภิปรายเข้าใจได้ว่าบริษัทที่จำเลยยกตัวอย่างว่าได้รับประโยชน์จากการที่นายแพทย์สุรพงษ์ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีสรรพสามิต คือ บริษัทโจทก์ นั่นเอง หาอาจเข้าใจว่าเป็นบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ตามคำกล่าวอภิปรายของจำเลยที่พาดพิงถึงโจทก์นั้น จำเลยพูดอภิปรายไว้ตอนหนึ่งว่า “…ผมก็สงสัย ท่านประธานครับ ถามกรมสรรพสามิต ทำไมอาบ อบ นวด มีความจำเป็นอย่างไร แยกเป็น 2 ประเภท ผมไม่เข้าใจ อาบ อบ นวด คือ อาบ อบ นวด เขาบอกว่าแยกเป็น 2 ประเภท ครับ แยกเป็น 2 ประเภท ถามว่าแยกเป็น 2 ประเภทอย่างไร เขาบอก อาบ อบ นวด ประเภทหนึ่งที่มีตู้ มีอ่างอาบน้ำ อยู่ในห้องพร้อมกับห้องนวด แล้วก็มีรูปหรือสื่อ เพื่อให้ลูกค้านั้นสามารถใช้บริการเลือกผู้ให้บริการได้ ประเภทนี้เค้าบอกว่าเก็บภาษีสรรพาสามิต แต่อีกประเภทหนึ่งซึ่งผมสงสัยที่เขาบอกว่าเขายกเว้นภาษีครับ เขาบอกว่าอันนี้เพื่อสุขภาพหรือเพื่อความสวยงาม… ผมเป็นคนที่ไม่ได้เที่ยว อาบ อบ นวด ท่านประธานครับ ผมไม่ทราบว่าอัตราเดี๋ยวนี้เขาเท่าไหร่ ถามจากคนหนุ่ม ๆ เขาบอกว่า 1,000, 2,000, 3,000 แล้วแต่สถานที่…” และกล่าวอภิปรายอีกตอนหนึ่งกล่าวหานายแพทย์สุรพงษ์ออกกฎหมายหมกเม็ดเอื้อประโยชน์แก่บริษัทโจทก์ซึ่งเป็นพวกพ้องว่า “…เม็ดแรกที่หมกไว้นะครับ… ก็คือว่าทะเบียนบริษัทเลขที่ 435/2537 เป็นบริษัทซึ่งจดทะเบียนขึ้นมา รายละเอียดวัตถุประสงค์นั้นมีทั้งหมด 25 ข้อบังคับ ข้อที่ 22 ประกอบกิจการสถานบริการอาบ อบ นวด แต่ข้อที่ 24, 25 นั้น เกี่ยวกับการค้ายา ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เครื่องใช้เสริมความงามครับ งั้นตรงนี้ผมเรียนท่านประธานว่า ตรงนี้ก็เข้าข่ายยกเว้นภาษี…” ตามคำอภิปรายของจำเลยดังกล่าวสรุปความว่า กิจการอาบ อบ นวด มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกมีตู้ มีอ่างอาบน้ำอยู่ภายในห้องพร้อมกับห้องนวด และมีรูปหรือสื่อเพื่อให้ลูกค้านั้นสามารถใช้บริการเลือกผู้ให้บริการได้ ประเภทนี้ต้องเสียภาษีสรรพาสามิต ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นการให้บริการอาบน้ำหรืออบตัวและนวดในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพกลับได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และจำเลยยังได้พูดอภิปรายทำนองประชดประชันอีกว่า “…แต่ปรากฏว่าพวกที่เพื่อสุขภาพหรือเสริมความงามนั้น เก็บเท่าไหร่รู้ไหมครับ โฆษณาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 9 16,000 บาท ครับ สูตรหนึ่ง 16,000 บาท ครับ และก็มี 20,000 กว่าบาท ก็มี…” คำอภิปรายของจำเลยในส่วนนี้ทั้งหมดดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบเนื้อหาสาระโดยรวมที่จำเลยอภิปรายกล่าวหาว่านายแพทย์สุรพงษ์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่พิจารณาอนุมัติให้ออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทโจทก์ซึ่งมีนางปราณีภริยาของนายแพทย์สุรพงษ์เป็นกรรมการผู้จัดการ ย่อมสื่อความหมายแห่งคำอภิปรายของจำเลยว่า บริษัทโจทก์ประกอบกิจการให้บริการอาบน้ำหรืออบตัวและนวดในสถานบริการเสริมความงามเพื่อสุขภาพ ซึ่งอยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต คำอภิปรายของจำเลยหาได้ใส่ความว่าบริษัทโจทก์ประกอบกิจการอาบ อบ นวด ชนิดที่มีตู้ มีอ่างอาบน้ำอยู่ในห้องพร้อมกับห้องนวด และมีรูปหรือสื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการโดยเลือกผู้ให้บริการได้ ซึ่งเป็นประเภทที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตไม่ ดังนั้น แม้คำอภิปรายของจำเลยในกิจการประเภทหลังจำเลยจะพูดสื่อความหมายในทางเสื่อมเสียว่า เป็นกิจการให้บริการอาบ อบ นวด ที่มีอุปกรณ์ครบภายในห้องนวด และมีรูปภาพหรือสื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการโดยเลือกหญิงผู้ให้บริการนวดหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หมอนวด” ได้ ซึ่งสอบถามจากหนุ่ม ๆ แล้วมีอัตราค่าบริการ 1,000, 2,000 หรือ 3,000 บาท แล้วแต่สถานที่ อันเป็นการพูดอภิปรายในทำนองว่าเป็นกิจการที่เสื่อมเสียในลักษณะอาจเป็นสถานการค้าประเวณีให้แก่หนุ่ม ๆ ก็ตาม แต่เมื่อคำอภิปรายของจำเลยได้พูดบ่งชี้ชัดเจนว่า กิจการให้บริการอาบน้ำหรืออบตัวและนวดของบริษัทโจทก์เป็นกิจการที่อยู่ในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพที่นายแพทย์สุรพงษ์กับคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันออกกฎหมายหมกเม็ดเอื้อประโยชน์ต่อโจทก์ให้เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ย่อมเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ใส่ความว่าบริษัทโจทก์ประกอบกิจการอาบ อบ นวด ชนิดที่ เสื่อมเสีย ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องและตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ได้ว่าคำกล่าวอภิปรายของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง คดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ฎีกาต่อสู้อีกว่าคำอภิปรายของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เป็นความชอบธรรมที่จำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพึงทำหน้าที่ติชมด้วยความเป็นธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์จากการเก็บภาษีของรัฐและเป็นการป้องกันมิให้รัฐเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อันจะเป็นเหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 อีกแต่อย่างใด เพราะแม้รับวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share