คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 8,039,292 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,687,592 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน ดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 มิถุนายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ถึงแก่ความตาย นายกฤษฎา ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 315,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 มิถุนายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 8,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 โจทก์ไปรับบริการการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองส่งผลการตรวจตามรายงานการตรวจสุขภาพ ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นแพทย์ผู้ตรวจ ระบุผลการตรวจเอกซเรย์ ในข้อที่ 4 ว่า ตรวจเอกซเรย์ช่องท้องส่วนบน U/S upper Abdomen เพื่อตรวจดูตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไตทั้งสองข้างปกติ ครั้นต่อมาประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2550 โจทก์มีอาการปวดท้องและท้องอืด จึงไปตรวจรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 โรงพยาบาลธนบุรี 2 และโรงพยาบาลราชวิถี กลับตรวจพบว่า โจทก์มีก้อนเนื้อมะเร็งที่บริเวณไตข้างขวา จึงเข้ารับการรักษาโดยผ่าตัดไตข้างขวาออก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นอกจากมรณบัตรที่แสดงสาเหตุความตายของโจทก์จะเป็นเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ มิใช่พยานหลักฐานในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะนำมากล่าวอ้างในฎีกาได้แล้ว แม้หากจะรับฟังถึงสาเหตุการตายของโจทก์ตามมรณบัตรฉบับนี้ก็ยังเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า ผลแห่งการระบุในรายงานการตรวจสุขภาพ ทำให้โรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้ในที่สุดโจทก์ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งสมองนั่นเองเพราะปรากฏตามบทความทางวิชาการ ด้วยว่าอาการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งไตอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ อันได้แก่ปอด กระดูก หรือสมองก็ได้ จึงยิ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เห็นถึงการร่วมกันทำละเมิดของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ให้มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โจทก์ไปตรวจร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 ผลการตรวจปรากฏว่ามีก้อนเนื้อที่บริเวณไตข้างขวามาหลายปีแล้ว เนื่องจากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ แสดงว่าโจทก์ต้องทราบผลการตรวจตั้งแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงเกินกำหนดอายุความ 1 ปี นั้น เห็นว่า อายุความฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2550 ที่โรงพยาบาลธนบุรี แจ้งผลการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ว่าปรากฏว่ามีก้อนเนื้อที่บริเวณไตข้างขวามานานหลายปีแล้วตาม ลำพังข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการร่วมกันทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงเพียงเท่าที่กล่าวอาจทำให้โจทก์รู้สึกฉงนสงสัยว่า เหตุใดจึงแตกต่างขัดแย้งกับผลการตรวจสุขภาพประจำปี ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงระบุว่าผลการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน “ปกติ” เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขอรายงานผลการตรวจช่องท้องด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือใบอัลตร้าซาวด์ มาจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 จึงทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปี ตามรายงานการตรวจสุขภาพ ผิดพลาดไปจากความจริง กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และรู้ตัวว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในวันดังกล่าว คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นฎีกา 8,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเกินแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share