คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ซึ่งต่าง อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ยื่นคำร้องทุกข์ ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็เพราะจำเลยที่ 3 ได้รับ ความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่าง ถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ ไม่ตรงกับมติคณะผู้บริหารอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการสร้างทางหลวงเทศบาล สายดังกล่าวทั้งนี้ต้องตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 18 และมาตรา 19(1) และ (2)(ง)การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วย กฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด การที่จำเลยที่ 4 ได้ทำการสำรวจและทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ ให้เป็นไปตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ก็เพื่อต้องการทราบว่า ลักษณะรูปแผนที่และแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าว เพื่อเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาประกอบเรื่อง ร้องทุกข์ ส่วนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ ก็อยู่ในดุลพินิจของกรรมการแต่ละคน จึงไม่เป็นการกระทำละเมิด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตทางหลวงที่ถูกเวนคืนดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของจำเลยที่ 3 ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งบัญญัติไว้ในภาค 1 หมวด 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มี อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนี้ได้ และในการพิจารณา เรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็พิจารณาถึงการกระทำ ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่า ทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จะสร้างถูกต้องเป็นไปตามมติคณะผู้บริหาร ของจำเลยที่ 1 หรือไม่และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ไม่ได้ พิจารณาถึงที่ดินหรือการกระทำของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มิได้ เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องทุกข์แต่อย่างใดดังนั้น การที่ จำเลยที่ 8 และที่ 9 มิได้เรียกโจทก์เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา ไม่ถือว่ากระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรี กับซอยทองหล่อ ในที่ดินของโจทก์ก็กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ พ.ศ. 2535 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรี กับซอยทองหล่อ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วกล่าวคือหากจำเลยที่ 1 ได้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์แล้ว จำเลยที่ 1ก็มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้ ผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงิน ค่าทดแทนโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์แล้วและจำเลยที่ 1 จะเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์เมื่อพ้นกำหนด60 วัน นับแต่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้ง การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองและใช้ที่ดินของโจทก์สร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าว รวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำนั้น การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งให้ถือเอาแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จำเลยที่ 4 จัดทำขึ้นเป็นหลักในการสร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าว สอดคล้องกับคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการตามคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ถือแนวเขตทางหลวงเทศบาล ที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำขึ้นเป็นหลัก ทั้งสอดคล้องกับรูปแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายนั้น การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าทำละเมิดต่อโจทก์ ผู้ถูกเวนคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์(คณะที่ 5) ที่ 13/2532 ซึ่งมีจำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการวินิจฉัย และห้ามจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อตามแนวเขตทางที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำขึ้นในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 177074 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ)อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 68 ตารางวาที่ถูกแนวเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ พ.ศ. 2535 ให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 10 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะหยุดการเข้าไปครอบครองที่ดินของโจทก์
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 13/2532 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ที่ 8 และที่ 9 แล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ว่า เมื่อปี 2527 จำเลยที่ 1 มีโครงการสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ได้ประชุมกันครั้งที่ 11/2528 เมื่อวันที่3 พฤษภาคม 2528 เกี่ยวกับการสร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวแล้วมีมติว่าให้กำหนดแนวเขตทางเป็นเส้นตรงและมีความกว้างเท่ากับซอยทองหล่อตลอดแนวจำเลยที่ 1 ได้จัดทำแผนที่และกำหนดแนวเขตทางผ่านที่ดินจำเลยที่ 3 และที่ดินนางถนอม เกิดประดิษฐ์ มารดาโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงกับนางถนอมเรื่องแนวเขตทางและค่าทดแทนได้ แต่ไม่อาจตกลงกับจำเลยที่ 3 ได้ เพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ทำแผนที่แนวเขตทางสายดังกล่าวไม่ยึดหลักจุดกึ่งกลางซอยทองหล่อเป็นเกณฑ์ไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้แนวเขตทางไม่เป็นเส้นตรงและเบนเข้าหาที่ดินของจำเลยที่ 3 มากเกินความจำเป็น ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรื้ออาคารโรงแรมมรกตเพิ่มมากขึ้น จำเลยที่ 3ขอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาแก้ไข จำเลยที่ 1 ไม่แก้ไข จำเลยที่ 3จึงยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ และจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ทำการสำรวจและทำแผนที่แนวเขตทางว่าที่ถูกหลักวิชาการควรมีลักษณะอย่างไร เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 8 ที่ 9 กับพวก ได้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของจำเลยที่ 3 แล้ววินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางไม่ถูกต้องตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 11/2528 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 แผนที่กำหนดแนวเขตทางที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำโดยยึดกึ่งกลางซอยทองหล่อเป็นเกณฑ์มีความถูกต้อง สมควรที่นายกรัฐมนตรีจะได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแก้ไขแนวทางให้ถูกต้องรวมทั้งแก้ไขแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกา ที่ค้างพิจารณาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย ตามสำเนาคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 13/2532 และนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 48 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2535 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับเป็นผลให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน 68 ตารางวา ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2536 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองและใช้ที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในแนวเขตถูกเวนคืน 68 ตารางวา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็เพราะจำเลยที่ 3 ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อไม่ตรงกับมติคณะผู้บริการของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 11/2528เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการสร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวทั้งนี้ต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 18 และมาตรา 19(1) และ (2)(ง) การกระทำของจำเลยที่ 3จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3ให้ชดใช้ค่าเสียหาย และการที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ทำการสำรวจและทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อให้เป็นไปตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 11/2528เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 ก็เพื่อต้องการทราบว่าลักษณะรูปแผนที่และแนวเขตทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวเป็นอย่างไรเพื่อเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาประกอบเรื่องร้องทุกข์ ส่วนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์จะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็อยู่ในดุลพินิจของกรรมการแต่ละคนจำเลยที่ 1 มิได้กระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ได้พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของจำเลยที่ 3ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งบัญญัติไว้ในภาค 1 หมวด 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาพ.ศ. 2522 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 13/2532 จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนี้ได้และในการพิจารณาเรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็พิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่า ทำแผนที่กำหนดแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จะสร้างถูกต้องเป็นไปตามมติคณะผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 11/2528 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 หรือไม่และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรไม่ได้พิจารณาถึงที่ดินหรือการกระทำของโจทก์ทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องทุกข์แต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 8 และที่ 9 มิได้เรียกโจทก์มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา ไม่ถือว่ากระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายได้ สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าครอบครองสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 177074 เนื้อที่ 68 ตารางวา ก็กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ พ.ศ. 2535 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับซอยทองหล่อ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2536 ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้ว กล่าวคือ หากจำเลยที่ 1 ได้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้
กรณีของโจทก์ได้ความตามสำเนาเอกสารที่แนบท้ายคำแถลงลงวันที่ 2 ธันวาคม 2537 ที่โจทก์ยื่นต่อศาลชั้นต้นว่าผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีหนังสือที่ กท 4006/519 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงินค่าทดแทนโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาถนนเพชรบุรี ในชื่อของโจทก์แล้วและจำเลยที่ 1 จะเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์เมื่อพ้นกำหนด60 วัน นับแต่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์อ้างว่าได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 1 มีนาคม 2537 ซึ่งจะพ้นกำหนด 60 วันในวันที่1 พฤษภาคม 2537 จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วการที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองและใช้ที่ดินของโจทก์สร้างทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวรวมทั้งไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำนั้นได้
สำหรับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฝ่ายการโยธาในขณะนั้น ได้สั่งให้ถือเอาแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จำเลยที่ 4 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำขึ้นเป็นหลักในการสร้างทางหลวงสายเทศบาลสายดังกล่าวนายกรัฐมนตรีที่สั่งการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ถือแนวเขตทางหลวงเทศบาลที่จำเลยที่ 4โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จัดทำขึ้นเป็นหลัก ทั้งสอดคล้องกับรูปแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายเชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีตัดใหม่กับซอยทองหล่อ พ.ศ. 2535 อีกด้วย การสั่งการของจำเลยที่ 2ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share