คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา176เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่2แล้วการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้นรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2เป็นอันยุติและจำเลยที่2มิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาอีกต่อไปแต่กลับเป็นบุคคลภายนอกศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้มีผลผูกพันจำเลยที่2ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145วรรคสองทั้งคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนนิติกรรมก็มิใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2)ที่จะมีผลผูกพันจำเลยที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2537จำเลยที่ 1 และนายอภิสิทธิ์ โคตรชมภู ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในสัญญาจำนองว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท และต่อมาเมื่อวันที่2 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 1 กับนายอภิสิทธิ์ร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจอ้างว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1แทนโจทก์ แล้วให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำนิติกรรมขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2529 ต่อมาวันที่8 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินไว้โดยไม่สุจริตโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวและส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนจำนองฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2527 นิติกรรมไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2529 และนิติกรรมขายที่ดินฉบับลงวันที่18 มกราคม 2531 ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2594 คืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อเดือนกันยายน 2527 โจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 15,000 บาท โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 ไว้ ต่อมาโจทก์ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในสัญญาจำนองและในหนังสือมอบอำนาจ โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำต่อโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตตั้งแต่ต้นปี 2531 จำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลานานกว่า 3 ปี โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือเกี่ยวข้อง โจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงท้ากันให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ท.1 และลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในใบรับรองเขตติดต่อกับเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงเอกสารหมาย ท.2 ว่าเป็นลายมือชื่อบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ หากผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน จำเลยทั้งสองยอมรับว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามฟ้องโดยโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2527 พร้อมนิติกรรมไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่12 มิถุนายน 2529 และนิติกรรมขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2531 ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2594ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คืนแก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนการขายที่ดินฉบับลงวันที่ 18 มกราคม2531 นั้นให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินของโจทก์มาโดยนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมิใช่เจ้าของที่ดิน ไม่มีสิทธินำที่ดินไปโอนขายได้ เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 การซื้อขายย่อมไม่ชอบ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ตาม เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 แล้วการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยืนฟ้องเลย มีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติและจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาอีกต่อไป แต่กลับเป็นบุคคลภายนอก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง ทั้งคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนนิติกรรมก็มิใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ที่จะมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
พิพากษายืน

Share