คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4)ข และ (5) เป็นแต่เพียงเหตุบางประการที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้น มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง
จำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน174,733.68 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย แต่ก็ปรากฏว่ามูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลในทางแพ่งนั้น เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2519 ซึ่งมียอดหนี้ที่จำเลยกับพวกรวม 4 คน จะต้องรับผิดเพียง 46,262.43 บาท เท่านั้นแต่โจทก์ก็ไม่ขวนขวายดำเนินการฟ้อง จำเลยกับพวกคงปล่อยปละละเลยนานเกือบ10 ปี จึงได้มีการฟ้องให้จำเลยรับผิด เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2529 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการสืบหาเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยกับพวกแต่อย่างใด รอจนกระทั่งปี 2538 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย พฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี 2529 ทำให้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง174,733.68 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยอื่น มิได้กระทำต่อจำเลยนี้โดยตรง ผู้ที่ทำรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์ก็มิได้นำตัวมาสืบสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่า ไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดอันถือได้ว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ศาลต้องยกฟ้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 14

Share