คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ซึ่งมีจำเลยเป็นเจ้าของ อยู่ติดถนนสาธารณะ ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ด้านหลังก่อนแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเปิดทางเดินกว้าง 2.5 เมตร ให้โจทก์ทั้งสองเดินออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต่อมาจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ปิดกั้นด้านหน้าทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ หากจะออกสู่ทางสาธารณะด้านหลังจะต้องอาศัยทางในที่ดินของผู้อื่น และโจทก์ไม่มีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินของโจทก์อยู่ในที่ล้อมจึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนไปสู่ทางสาธารณะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 การยกเลิกสัญญาที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางผ่านดังกล่าวเป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1338 วรรคสอง เพียงแต่ตกลงยกเลิกข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วยปากเปล่าจึงไม่มีผลผูกพัน และเมื่อเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมายจึงไม่จำต้องไปจดทะเบียน โจทก์มีสิทธิเดินผ่านที่ดินของจำเลยได้เมื่อจำเลยปิดทางเดินทำให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้เปิดทางได้โดยไม่มีอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 402 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองหารอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดทางสาธารณะ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2519 จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำนวน3 งาน ซึ่งอยู่ด้านหลังขายให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินโจทก์ที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ และก่อนแบ่งโอนจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเปิดทางเดินกว้าง 2.5 เมตร ให้โจทก์เดินออกสู่ทางสาธารณะต่อมาเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยสร้างรั้วปิดกั้นทางเดินไม่ยอมให้โจทก์เดินผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยเปิดทาง จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมเปิดทาง จึงขอให้จำเลยร่วมกันเปิดทางเดินด้านทิศเหนือ กว้าง 2.5 เมตรให้แก่โจทก์เพื่อผ่านออกสู่ทางสาธารณะและให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ไปให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ทายาทของนายโกเมนมณีมาโรจน์ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องด้วย จำเลยเคยทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเปิดทางเดินให้โจทก์เดินออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าวเพราะโจทก์ทั้งสองประสงค์จะได้ที่ดินที่ซื้อจำนวน 3 งาน เต็มเนื้อที่โดยไม่ต้องแบ่งเป็นทางเดิน เมื่อแบ่งโอนที่ดินกันแล้วโจทก์และจำเลยต่างล้อมรั้ว โจทก์ไม่เคยเดินผ่านที่ดินจำเลยเพราะโจทก์เดินออกสู่ทางสาธารณะทางด้านหลัง ต่อมาปี 2524 จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เต็มเนื้อที่และล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้น โจทก์ทราบก็ไม่คัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ไม่เคยเดินผ่านที่ดินจำเลยทั้งสองเป็นเวลา 10 ปีเศษ ถือว่าโจทก์สละสิทธิการใช้สิทธิของโจทก์เป็นอันสิ้นสุด ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องเพื่อให้จำเลยเปิดทางเดินภายใน 10 ปี นับแต่ปี 2519 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางเดินกว้าง2.5 เมตร เพื่อโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 402 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของอยู่ติดถนนเชียงใหม่-พร้าว ต่อมาปี 2519 โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ด้านหลัง ก่อนแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองว่าจะเปิดทางเดินกว้าง 2.5 เมตรให้โจทก์ทั้งสองเดินออกสู่ทางสาธารณะได้…
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางเดินในที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่… ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางด้านหลังไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ถ้าโจทก์จะออกสู่ทางสาธารณะจะต้องอาศัยทางในที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ล้อมจึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสองได้ตกลงยกเลิกสัญญาที่จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางผ่านกว้าง 2.5 เมตร ตามเอกสารหมาย จ.5นั้น เห็นว่า แม้ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจะเป็นจริง แต่ตามข้ออ้างเป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 วรรคสอง บังคับให้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่กรณีตามที่จำเลยทั้งสองอ้างมิได้กระทำดังกล่าวเพียงแต่ตกลงยกเลิกข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วยปากเปล่าเท่านั้นจึงไม่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำและยกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่การใช้สิทธิผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นได้ความตามเอกสารหมาย จ.5 ว่ามีความกว้าง 2.5 เมตร แสดงว่าจำเลยทั้งสองก็ทราบดีว่าความกว้างดังกล่าวพอสมควรแก่ความจำเป็นตามสถานการณ์ความเจริญของบ้านเมือง จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองเปิดทางกว้าง 2.5 เมตร ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า เมื่อเป็นทางจำเป็นโดยผลของกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้เดินผ่านที่ดินของจำเลย หรือไม่ขอให้จำเลยเปิดทางเดินเกินกว่า 14 ปี แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความนั้นเห็นว่า สิทธิของโจทก์ทั้งสองเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายคือมีสิทธิเดินผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสองได้ตลอดเวลา เมื่อใดจำเลยทั้งสองปิดทางเดินจนโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์ทั้งสองย่อมจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองเปิดทางได้ กรณีไม่มีอายุความฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share