คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ในอีกคดีหนึ่งฟ้องบริษัท ส.ขอให้บังคับจำนองที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ที่บริษัท ส. เป็นลูกหนี้อยู่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกมาจากบริษัท ส. ที่ต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหากปล่อยให้บังคับคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัท ส. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 แต่แม้ว่าจะมีการไถ่ถอนจำนองไปบางส่วนแล้ว ทรัพย์สินซึ่งจำนองทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็จะต้องเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาจำนองของเงินจำนวนทั้งหมดที่ค้างอยู่ตามมาตรา 716 และ 717เมื่อหนี้จำนองที่บริษัท ส. มีต่อจำเลยยังเหลืออยู่อีก5,396,629.37 บาท แต่มีที่ดินพิพาทเหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการไถ่ถอนจำนองก็ต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยอยู่ โจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียง 386,788.60 บาท ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47279เนื้อที่ 60 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 17/24ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 16135/2534 ระหว่างนางสาวชลดา อำพันแสง โจทก์ บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด จำเลย และจำเลยคดีนี้เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โจทก์ขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมรับ ขอให้บังคับจำเลยรับเงินค่าไถ่ถอนจำนวน 353,981 บาท จากโจทก์และให้ดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 10มีนาคม 2524 ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยบังคับจำนองที่ดินแปลงพิพาทได้ขณะนี้อยู่ระหว่างบังคับคดีซึ่งยังมีหนี้ค้างชำระอยู่อีกจำนวน 5,396,629.77 บาท จำเลยมีสิทธิบังคับจำนองจากทรัพย์จำนอง นำเงินที่ได้มาชำระจนกว่าจะครบถ้วนและบริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด ผู้จำนองเดิมเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิจะขอไถ่ถอนจำนองได้ โดยต้องชำระหนี้ที่ค้างจนครบถ้วนก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิขอไถ่ถอนจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปรับจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47279 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 17/24 ตำบลตลาดบางเขน (บางเขน) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร จากโจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 386,788.60 บาท ให้จำเลยก่อนหากโจทก์ชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ยอมรับหรือไม่ยอมไปรับจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2536 ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2524จำเลยในคดีนี้ได้รับจำนองที่ดินแปลงหมายเลขโฉนดที่ 47279 ตำบลบางเขน (บางเขน) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่พิพาทพร้อมที่ดินแปลงอื่นรวม 57 แปลง (57 โฉนด) ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2524 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางเขน ส่งศาลปรากฏอยู่ในสำนวน ต่อมาได้มีการไถ่ถอนจำนองจนเหลือที่ดินจำนองอยู่ 34 โฉนด รวมที่ดินแปลงพิพาทด้วย เมื่อวันที่15 กันยายน 2526 จำเลยได้ฟ้องบริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัดบังคับจำนองที่ดินทั้ง 34 แปลง รวมที่ดินพิพาทในคดีนี้ด้วยแต่ที่ดินพิพาทถูกเรือเอกประสิทธิ์ ภู่แกมแก้ว ขอให้ศาลแพ่งยึดเพื่อบังคับคดีไว้ก่อนแล้วตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 26/2526ของศาลจังหวัดนนทบุรี ระหว่างเรือเอกประสิทธิ ภู่แกมแก้ว โจทก์บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด จำเลย จำเลยคดีนี้จึงได้ยึดที่ดินเพื่อบังคับจำนองได้เพียง 33 แปลง ได้มีการขายทอดตลาดได้เงินจำนวน5,430,000 บาท มีผู้ร้องขัดทรัพย์ 7 ราย รวม 10 โฉนด และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลได้เงินมา 1,541,000 บาทเงินที่ได้มารวม 2 จำนวน ดังกล่าว จำเลยได้รับชำระหนี้ไปจำนวน5,127,281.75 บาท ยังคงเหลือจำนวนหนี้ที่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์จำกัด จะต้องชำระให้แก่จำเลยอยู่อีก 5,396,629.37 บาท ต่อมาเรือเอกประสิทธิ์โจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิไม่บังคับคดีกับที่พิพาทที่ยึดไว้ จำเลยจึงสวมสิทธิเป็นผู้ยึดทรัพย์และบังคับคดีที่พิพาทแทนต่อมา ซึ่งทรัพย์พิพาทแปลงดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 16135/2534 ให้บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัดโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นางสาวชลดา อำพันแสง โจทก์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2534 โดยกำหนดให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่ค้างแก่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด อีกจำนวน 138,500 บาท แต่โจทก์ยังมิได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัดและบริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด ยังมิได้โอนที่พิพาทให้แก่โจทก์เนื่องจากที่พิพาทได้มีการจำนองไว้แก่จำนองในคดีนี้ โจทก์จึงได้เรียกร้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนอง จำเลยไม่ยินยอมรับไถ่ถอนจำนองโจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย ให้รับไถ่ถอนจำนองตามจำนวนเงินที่โจทก์เสนอหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14657/2526 ของศาลแพ่งซึ่งจำเลยในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องบังคับยึดทรัพย์จำนองรวมถึงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ให้บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด ชำระหนี้จำนองโดยการขายทอดตลาดรวมทั้งทรัพย์พิพาทตามที่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัดเป็นลูกหนี้อยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอาจจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทหากปล่อยให้จำเลยบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัดได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 230 แต่สิทธิดังกล่าวของโจทก์จะเป็นการใช้หนี้แทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า หนี้จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และแม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตามจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นทุกส่วนอยู่ด้วยกันอยู่นั่นเองตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 วรรคแรก ดังนั้นแม้ว่าจะมีการไถ่ถอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไปบางส่วนแล้วก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจำนองทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็จะต้องเป็นประกันการชำระหนี้ตามสิทธิของสัญญาจำนองของเงินจำนวนทั้งหมดที่ค้างอยู่เหตุดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหนี้จำนองที่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์จำกัด มีต่อจำเลยในคดีนี้ยังมีเหลืออยู่อีกจำนวน 5,396,629.37 บาทแต่มีทรัพย์จำนองเป็นประกันในการชำระหนี้คือที่ดินพิพาทแปลงนี้เหลืออยู่เพียงแปลงเดียว การที่จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง จึงต้องเป็นการชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัทสยามอินเตอร์แลนด์ จำกัด เป็นหนี้จำเลยอยู่คือจำนวน5,396,629.37 บาท โจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียงจำนวน 386,788.60 ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหาได้ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับไถ่ถอนจากโจทก์ต่ำกว่าหนี้ที่บริษัทจำเลยเป็นเจ้าหนี้อยู่ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share