แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน “สำเนา” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า “เอกสาร”ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า “เอกสาร” ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
การขอเลื่อนคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า “…ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม” แต่จากรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า ก่อนหน้านั้น ในช่วงนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลต่าง ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้นนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกันอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งก่อนวันนัดดังกล่าว ศาลได้กำชับให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อม หากขอเลื่อนคดีอีกจะพิจารณาสั่งโดยเคร่งครัดแล้ว แต่พอถึงวันนัดจำเลยทั้งสองก็ยังขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเพิ่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมฟังได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่จะงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
เหตุผลที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยทั้งสองลอกมาจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแทบทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 650,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 635,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 650,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 635,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาคำสั่งที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารของโจทก์และสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบนั้น ในคำร้องคัดค้านการรับฟังเอกสารลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยทั้งสองคัดค้านการรับฟังเอกสาร 4 ฉบับ คือ เอกสารหมาย จ.1, จ.4, จ.6 และ จ.8 ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนา ไม่ใช่ต้นฉบับ ศาลจึงไม่ควรรับฟัง แต่ในชั้นฎีกาคำสั่ง จำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านเฉพาะเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 โดยฎีกาว่า เอกสารทั้งสองฉบับโจทก์ทำขึ้นเองแล้วถ่ายเอกสารนำมาเป็นพยานต่อศาล จึงเป็นสำเนาเอกสารซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟัง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน “สำเนา” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า “เอกสาร” ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า “เอกสาร” ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
สำหรับคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเพราะเพิ่งแต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่ ซึ่งทนายความคนใหม่ต้องมีเวลาศึกษาคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ เห็นว่า การขอเลื่อนคดีนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า “…ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ เว้นแต่การขอเลื่อนการนั่งพิจารณานั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม” แต่จากรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า ก่อนหน้านั้น ในช่วงนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลต่าง ๆ มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้นนัดสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกันอีกถึง 3 ครั้ง ซึ่งก่อนวันนัดดังกล่าว ศาลได้กำชับให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อม หากขอเลื่อนคดีอีกจะพิจารณาสั่งโดยเคร่งครัดแล้ว แต่พอถึงวันนัดจำเลยทั้งสองก็ยังขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเพิ่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองย่อมฟังได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ที่จะงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาคำสั่งทั้งสองประการของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ในส่วนฎีกาคำพิพากษาที่จำเลยทั้งสองขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นยกฟ้องโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองอ้างเหตุ 2 ประการ คือ จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ทำงานเพียงเท่าค่าจ้าง 995,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองได้จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว มิได้จ้างเพิ่มอีกและจำเลยทั้งสองมิได้ค้างชำระค่าจ้างตามฟ้อง กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ศาลฎีกาตรวจคำฟ้องฎีกาของจำเลยทั้งสองโดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่าเหตุผลที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยทั้งสองลอกมาจากคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแทบทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อความตอนใดเลยที่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยทั้งสองขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ