คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บันทึกตกลงเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน หนี้สินและภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายหนึ่งกับ ย. อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งปันทรัพย์สินและชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นนิติบุคคล ข้อตกลงในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินจึงยังไม่อาจมีผลบังคับได้ บันทึกตกลงเลิกบริษัทจึงไม่อาจถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จะอาศัยข้อตกลงในบันทึกดังกล่าวบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายฮ่องกง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางสาวยุพาภรณ์ มากกิตติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2539 และวันที่ 21 สิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จัดกลุ่มทัวร์ของมติชนไปเที่ยวเมืองฮ่องกงโดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลและจัดทำรายการทัวร์ อาหาร โรงแรม รวม 2 ครั้ง ซึ่งโจทก์ดำเนินการให้จำเลยที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 146,100 เหรียญฮ่องกง เมื่อครบกำหนดการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ชำระเงินบางส่วนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 เหรียญฮ่องกง ยังค้างชำระเงินอีกจำนวน 96,100 เหรียญฮ่องกง โจทก์ติดตามทวงถามแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ต่อมากรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเลิกบริษัท โดยมีรายละเอียดในเรื่องทรัพย์สินหนี้สิน และภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ยอมรับชำระหนี้จำนวน 96,100 เหรียญฮ่องกงเป็นการส่วนตัว โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยต่อมากรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเลิกบริษัท โดยมีรายละเอียดในเรื่องทรัพย์สินหนี้สิน และภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับชำระหนี้ จำนวน 96,100 เหรียญฮ่องกงเป็นการส่วนตัว โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 96,100 เหรียญฮ่องกง คิดเป็นเงินไทยจำนวน 517,233.26 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญฮ่องกง เท่ากับ 5.38224 บาท ณวันที่ 15 กรกฎาคม 2541) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยที่ 1ว่าจ้างโจทก์ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 21 สิงหาคม 2539 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 693 วันเป็นเงิน 73,652.59 บาท รวมเป็นเงิน 590,885.85 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 590,885.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 517,233.26 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ทำอาหาร ไม่เคยจัดกลุ่มทัวร์ไปเที่ยวเมืองฮ่องกง ค่าใช้จ่ายจำนวน 146,100 เหรียญฮ่องกง ไม่ใช่เรื่องจริงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ ไม่เคยทำบันทึกเลิกบริษัทตามบันทึกบริษัทท้ายฟ้อง บันทึกดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการบริษัทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำบันทึกเลิกบริษัทและไม่เคยตกลงรับผิดในภาระหนี้สินและความรับผิดของบริษัทจำเลยที่ 1 ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ในบันทึกเลิกบริษัทเป็นลายมือชื่อปลอม หนี้สินตามฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้นจำเลยที่ 3 เป็นเพียงกรรมการบริษัท การกระทำอย่างใด ๆ ของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 517,233.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 73,652.59 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางสาวยุพาภรณ์ มากกิตติ เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เป็นผู้ดูแลและจัดทำรายการทัวร์ของมติชนไปเมืองฮ่องกงรวม 2ครั้ง และค้างชำระหนี้ค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์จำนวน 96,000 เหรียญฮ่องกง คิดเป็นเงินไทยจำนวน 517,233.26 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนางสาวยุพาภรณ์ได้ตกลงกันเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 1 โดยแบ่งกันรับภาระในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกเลิกบริษัทเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับภาระในการชำระหนี้การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัว โดยนางสาวยุพาภรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 หลังทำบันทึกเลิกบริษัทแล้ว บริษัทจำเลยที่ 1ก็เลิกประกอบกิจการ แต่จนกระทั่งถึงวันฟ้องก็ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บันทึกเลิกบริษัทเอกสารหมาย จ.12 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ เป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ได้ เห็นว่า บันทึกเลิกบริษัทเอกสารหมาย จ.12 เป็นบันทึกตกลงเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน หนี้สินและภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายหนึ่งกับนางสาวยุพาภรณ์อีกฝ่ายหนึ่ง จึงถือเป็นข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งปันทรัพย์สินและชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นนิติบุคคลข้อตกลงในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินตามเอกสารหมาย จ.12 จึงยังไม่อาจมีผลบังคับได้ บันทึกเลิกบริษัทตามเอกสารหมาย จ.12 จึงไม่อาจถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จะอาศัยข้อตกลงในบันทึกบริษัทดังกล่าวบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share