คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 และประเภทที่ 70.06 ท้ายพระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราภาษีศุลกากรพ.ศ. 2503 นั้น แม้สินค้าทั้งสองประเภทจะเป็นกระจกที่มีกรรมวิธีใด ๆ ที่ผลิตขึ้นหรือทำขึ้น และไม่ว่าจะเป็นสีหรือไม่ก็ตาม ต่างก็เป็นแก้วอันเป็นวัตถุดิบเช่นเดียวกันข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 เป็นแก้วที่ยังมิได้ตกแต่งส่วนสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06 เป็นแก้วที่ได้ขัดผิดแล้วประการหนึ่ง หรือทำให้ใสแล้วอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องมิได้มีการทำให้แก้วนั้นมีคุณสมบัติหรือมีประโยชน์ในลักษณะการใช้สอยดีขึ้นมากไปกว่าการขัดผิดหรือทำให้ใส กรรมวิธีในการผลิตกระจกพิพาทจะต้องเป็นไปตามแบบแผนผัง กล่าวคือ การทำให้ผิดกระจกมีความมันและใสด้วยวิธีไฟร์โพลิช จะประกอบด้วยตัวทำความเย็นสองหน่วย ที่เรียกว่าเมนคูลเลอร์และเบบี้คูลเลอร์ เริ่มต้นด้วยการนำวัตถุดิบเป็นแถบน้ำแก้วหลอมเหลวอุณหภูมิ 800 เซลเซียส จากเตาหลอมผ่อนครอบบาร์ เพื่อดึงขึ้นในแนวตั้งแผ่นกระจกจะเริ่มแข็งตัว และผ่านเมนคูลเลอร์จนถึงเบบี้คูลเลอร์ เพื่อให้อุณหภูมิของแผ่นกระจกลดลงตามลำดับ จากนั้นจึงถึงช่วงของไฟร์โพลิช โดยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงผสมกับอากาศที่ได้สัดส่วนแล้วพ่นไฟดังกล่าวให้เปลวไฟอยู่ห่างแผ่นกระจกประมาณ 1 นิ้วเปลวไฟดังกล่าวจะเป็นตัวทำให้ผิดหน้าของกระจกราบเรียบและเป็นเงาใส ซึ่งการผลิตด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นการขัดผิวกระจกและทำให้ใสโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำต้องใช้เครื่องมือกลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวซ้ำอีก ดังนั้นวิธีไฟร์โพลิชดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการทำให้กระจกซีท ได้รับการตกแต่ง โดยขัดผิวและทำให้ใสแล้ว หาใช่เป็นกระบวนการผลิตกระจกธรรมดาตามปกติไม่ เพราะหากไม่ผ่านกระบวนการของไฟร์โพลิชก็คงเป็นกระจกธรรมดากระจกพิพาทจึงจัดเข้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06 ส่วนที่จำเลยโต้แย้งว่า การวินิจฉัยว่าแผ่นกระจกพิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทใด จะต้องถือตามคำอธิบาย พิกัดอัตราศุลกากรของสภาความร่วมมือทางศุลกากรกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยี่ยม ตามความเห็นของนายเอชอาซากุระ ผู้อำนวยการพิกัดศุลกากรของสภาซี.ซี.ซี. ที่ระบุว่ากระจกพิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ 70.05 นั้น การวินิจฉัยปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรที่โต้แย้งในคดีจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะที่มีการนำเข้า ซึ่งในขณะนั้นได้แก่พระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ความเห็นของเจ้าหน้าที่หรือคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรของสภาความร่วมมือทางศุลกากรมิใช่กฎหมาย เป็นเพียงแนวทางของการวินิจฉัยปัญหาเท่านั้น ไม่เป็นข้อลบล้างบทกฎหมายดังกล่าว มูลค่าของสินค้าที่นำเข้ามีราคาเป็นจำนวนใดจะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 2 ที่นิยามคำว่า “ราคา” หรือ “ราคาอันแท้จริง ในท้องตลาด” ว่า “ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้า ไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่นำของเข้า หรือส่งของออกแล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอน หรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด”ดังนั้น ที่กองวิเคราะห์ราคาได้กำหนดราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยสำหรับกระจกพิพาทไว้ จึงเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ ในการประเมินราคาเพื่อเรียกเก็บภาษีมิได้เป็นข้อตายตัวว่าจะต้องเป็นราคาดังกล่าวในขณะมีผู้นำเข้าเสมอไป แต่ได้กำหนดขึ้นเพื่อทราบราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในเบื้องแรกว่ามีราคาใด ราคาที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า ซึ่งนำเข้าระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2528เป็นราคาเดียวกับที่โจทก์ได้แจ้งไว้ในใบกำกับสินค้าในขณะที่โจทก์ส่งกระจกพิพาทลงเรือ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติผู้ขายในต่างประเภทจะส่งบัญชีราคาสินค้ามาให้โจทก์ตามที่ขอทราบราคาไป เมื่อโจทก์พอใจราคาแล้วก็จะสั่งซื้อ และดำเนินการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ผู้ขายหลังจากโจทก์ได้รับสินค้าแล้วจะชำระราคาให้แก่ผู้ขายหลังจากโจทก์ได้รับสินค้ารับสินค้าแล้วจะชำระราคาให้แก่ผู้ขายโดยผ่านทางธนาคาร จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้สั่งซื้อกระจกพิพาทในราคาดังกล่าวจริง ไม่มีข้อที่จะโต้แย้ง หรือมีเหตุสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวทำขึ้นไม่ตรงกับความเป็นจริงเพราะมีผู้เกี่ยวข้องและประโยชน์ได้เสียอีกหลายฝ่ายอาทิผู้รับขนทางทะเล และธนาคารตัวแทนทั้งฝ่ายผู้ขายและฝ่ายผู้ซื้อ ทั้งนี้ราคาสินค้าตามที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าตัวแลกเงิน และใบเสร็จรับเงินแล้วแต่ละกรณี จะเป็นข้อสำคัญที่ยันผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมิให้โต้เถียงในเรื่องราคา เป็นเรื่องอย่างอื่น ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าราคาสินค้า ที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาที่แท้จริง และถูกต้องกว่าราคาที่กองวิเคราะห์ราคาได้พิจารณา และกำหนดเป็นราคาประเมินไว้ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ได้เสนอบัญชีราคาสินค้าให้จำเลยพิจารณาราคาไว้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2527 แต่โจทก์นำสินค้ากระจกพิพาทเข้าภายหลังอีกประมาณ 1 ปีต่อมาราคาย่อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะของตลาด การที่โจทก์ไม่เสนอราคาที่เปลี่ยนแปลงต่อจำเลยก็ไม่เป็นข้อผูกมัดว่าโจทก์จะต้องปฏิบัติเช่นนั้นและราคาจะต้องตายตัวในราคานั้น เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติดังกล่าวการยื่นบัญชีราคาสินค้าไว้ต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาเป็นการอำนวยความสะดวก หรือให้ข้อมูลแก่จำเลยล่วงหน้าที่โจทก์จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ในการนำเข้าให้เป็นไปโดยรวดเร็วส่วนเหตุที่สินค้ากระจกพิพาทมีราคาต่ำลงนั้น ก็ได้ความว่ากรรมวิธีการผลิตกระจกต้องใช้น้ำมันดิบเป็นเชื้อเพลิงในระหว่าง ปี 2524 ถึง 2528 ราคาน้ำมันดิบลดลงถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้ค่าระวางเรือลดลงในอัตราประมาณร้อยละ 30 ถึง ร้อยละ 40 รวมถึงวิธีการบรรจุสินค้าที่โจทก์อาจเลือกเพื่อประหยัดต้นทุนได้หลายวิธี ราคากระจกในท้องตลาดทั่วไปจึงลดลงได้และเมื่อพิจารณาประกอบถึงการชำระราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศที่มีวิธีการชำระเงินผ่านธนาคารในรูปของการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต และอยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชำระเป็นราคาสินค้า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ฟังได้ว่า โจทก์สำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยทั้งสองจากพิกัด 70.05 ไปเป็นพิกัด 70.06 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน2,193,569.78 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงิน 2,063,196.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม ตามหนังสือลงวันที่ 24 มกราคม 2529 รวม 18 ฉบับ คือฉบับที่ กค.0613 (ก)/1-328ที่ กค.0613(ก)/1-325 ที่ กค.0613 (ก)/1-327 ที่ กค.1613 (ก)/1-326ที่ กค.0613 (ก)/ 1-330 ที่ กค.0613 (ก)/ 1-333ที่ กค.0613 (ก)/ 1-332 ที่ กค.0613 (ก)/ 1-329ที่ กค.0613 (ก)/ 1-331 ที่ กค.0613 (ก)/ 1-322ที่ กค.0613 (ก)/1-324 ที่ กค.0613 (ก)/ 1-323ที่ กค.0613 (ก)/1-321 ที่ กค.0613 (ก)/1-317ที่ กค.0613 (ก)/1-319 ที่ กค.0613 (ก)/1-316ที่ กค.0613 (ก)/1-320 ที่ กค.0613 (ก)/1-318
จำเลยให้การว่า การกำหนดพิกัดของสินค้าและการประเมินราคาสินค้า จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงของราคาสินค้าแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยทั้งสองจากพิกัด 70.05 ไปเป็นพิกัดที่ 70.06 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน2,193,569.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน2,063,196.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องชำระเพิ่มตามหนังสือ ลงวันที่ 24 มกราคม 2529 รวม 18 ฉบับ ฉบับที่กค.0613 (ก)/1-328 ที่ กค.0613 (ก)/1-325 ที่ กค.0613 (ก)/1-327ที่ กค.0613 (ก)/1-326 ที่ กค.0613 (ก)/1-330ที่ กค.0613 (ก)/1-333 ที่ กค.0613 (ก)/1-332 ที่ กค.0613 (ก)/1-329ที่ กค.0613 (ก)/1-331 ที่ กค.0613 (ก)/1-322 ที่ กค.0613 (ก)/1-324ที่ กค.0613 (ก)/1-323 ที่ กค.0613 (ก)/1-321 ที่ กค.0613 (ก)/1-317ที่ กค.0613 (ก)/1-319 ที่ กค.0613 (ก)/1-316 ที่ กค.0613 (ก)/1-320ที่ กค.0613 (ก)/1-318
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่าสินค้ากระจกแผ่นที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรในคดีนี้ เป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 ตามที่จำเลยโต้แย้งหรืออยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06 ตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในขณะนำเข้า เห็นว่าสินค้ากระจกแผ่นที่มีปัญหาเป็นแผ่นกระจกสีเทา (qrey sheet qlass)ปรากฏลักษณะตามตัวอย่าง วัตถุพยานหมาย วจ.2 ซึ่งเป็นแผ่นกระจกสีเทาเขียว มีความมันใสทั้งสองด้าน และโปร่งแสง ความหนาของแผ่นกระจกขนาด 5 มิลลิเมตร แผ่นกระจกดังกล่าวโจทก์เป็นผู้นำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ สินค้ากระจกพิพาทจะจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทใดนั้น จะต้องพิจารณาจากลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าที่ระบุไว้ในรายการของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์นำสินค้ากระจกพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรได้ความว่า ของหรือสินค้าในภาค 2พิกัดอัตราอากรขาเข้า ท้ายพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวตอนที่ 70แก้วและเครื่องแก้ว ได้ระบุรายการของพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 และ 70.06 ไว้ ดังนี้
ประเภทที่ 70.05 “แก้วที่ยึดหรือเป่า (รวมทั้งแก้วสี)ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ยังมิได้ตกแต่ง”
ประเภทที่ 70.06 “แก้วหล่อ รีด ยึด หรือ เป่า (รวมทั้งแก้วสีหรือแผ่นแก้วที่มีลวดตาข่ายยึด) ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขัดผิวหรือทำให้ใสแล้ว แต่ต้องมิได้ทำมากไปกว่าที่กล่าว”
จากรายการของสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 และประเภทที่ 70.06 ดังกล่าวนี้ เห็นว่า แม้สินค้าทั้งสองประเภทจะเป็นกระจกที่มีกรรมวิธีใด ๆ ที่ผลิตขึ้นหรือทำขึ้นและไม่ว่าจะเป็นสีหรือไม่ก็ตามต่างก็เป็นแก้วอันเป็นวัตถุดิบเช่นเดียวกัน ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่า สินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 เป็นแก้วที่ยังมิได้ตกแต่ง ส่วนสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06 เป็นแก้วที่ได้ขัดผิดแล้วประการหนึ่งหรือทำให้ใสแล้วอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องมิได้มีการทำให้แก้วนั้นมีคุณสมบัติหรือมีประโยชน์ในลักษณะการใช้สอยดีขึ้นมากไปกว่าการขัดผิดหรือทำให้ใส ซึ่งจำเลยฎีกาว่ากระจกพิพาทที่โจทก์นำเข้าเป็นกระจกที่ผลิตโดยบริษัทเอส.อี.เอ.กลาส อินดัสทวี จำกัดและใช้กรรมวิธีธรรมดาที่เรียกว่า กรรมวิธีแบบฟิตส์เบอร์กซึ่งต้องถือว่าอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 ที่โจทก์อ้างว่า การผลิตกระจกพิพาทถูกทำให้ใสด้วยไฟ ที่เรียกว่า ไฟร์โพลิชนั้น ระบบไฟร์โพลิช มิได้มีสิ่งใดมากไปกว่าส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตกระจกเลย ทั้งการขัดผิดให้เรียบ ก็จะต้องทำด้วยกรรมวิธีทางเครื่องมือกลเท่านั้น ข้อโต้แย้งที่เห็นว่า กรรมวิธีในการผลิตกระจกพิพาท โจทก์นำสืบว่า ได้ผลิตขึ้นในระบบฟิลคิงตันบราเดอรส์ที่พัฒนามาจากระบบพิตส์เบอร์กเดิมและผ่านกรรมวิธีซึ่งทำให้กระจกใสด้วยไฟ ที่เรียกว่าวิธีไฟร์โพลิชเพื่อตกแต่งผิวทำให้ใสและเป็นเงามัน เป็นการอ้างว่ากระจกพิพาทเป็นกระจกที่ตกแต่งด้วยการขัดผิดหรือทำให้ใสแล้ว ดังที่นายวันชัยเอื้อสุวรรณกุล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า กระจกที่ยังไม่ได้ตกแต่งผิด เป็นกระจกโรลกลาสหรือกระจกธรรมดาหรือกระจกรีด ดังที่ปรากฏลักษณะตามตัวอย่างวัตถุพยานหมาย วจ.1 ซึ่งศาลฎีกาได้เปรียบเทียบกับกระจกพิพาทแล้ว เห็นว่า ทั้งคุณสมบัติด้านความเรียบของเนื้อกระจกและความใสเป็นเงามันนั้น แผ่นกระจกหมาย วจ.1 ด้อยกว่า แผ่นกระจกหมาย วจ.2 แสดงว่า การผลิตแผ่นกระจกพิพาทใช้กรรมวิธีขึ้นสูงกว่าหรือดีกว่าการผลิตกระจกธรรมดา กระจกพิพาทถูกจัดอยู่ในประเภทกระจกชีท(sheet qlass) ซึ่งมีกรรมวิธีในการผลิตเป็นการยึดกระจกในแนวตั้งในอ่างโลหะหลอมเหลว และถูกทำให้ใสโดยวิธีไฟร์โพลิช นายวันชัยและนายไต นันชิง ได้เบิกความถึงการทำแผ่นกระจกชีทให้ใสประกอบกับบทความที่ตัดทอนมาจาก นิตยสาร “ดิ อีโคโมนิสท์” ฉบับลงวันที่24 มกราคม 2502 เอกสารหมาย จ.3 และ “เดอะ นิว ไซแอนทิสท์”ฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2502 เอกสารหมาย จ.4 สรุปได้ว่า การผลิตจะต้องเป็นไปตามแบบแผนผัง หมาย จ.15 กล่าวคือ การทำให้ผิวกระจกมีความมันและใสด้วยวิธีไฟร์โพลิชจะประกอบด้วยตัวทำความเย็นสองหน่วยที่เรียกว่า เมนคูลเลอร์และเบบี้คูลเลอร์ เริ่มต้นด้วยการนำวัตถุดิบเป็นแถบน้ำแก้วหลอมเหลวอุณหภูมิ 800 เซลเซียสจากเตาหลอมผ่านดรอบาร์เพื่อดึงขึ้นในแนวตั้ง แผ่นกระจกจะเริ่มแข็งตัว และผ่านเมนคูลเลอร์จนถึงเบบี้คูลเลอร์ เพื่อให้อุณหภูมิของแผ่นกระจกลดลงตามลำดับจากนั้นจึงถึงช่วงของไฟร์โพลิช โดยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงผสมกับอากาศที่ได้สัดส่วน แล้วพ่นไฟดังกล่าวให้เปลวไฟอยู่ห่างแผ่นกระจกประมาณ 1 นิ้ว เปลวไฟดังกล่าวจะเป็นตัวทำให้ผิวหน้าของกระจกราบเรียบและเป็นเงาใส ซึ่งการผลิตด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นการขัดผิดกระจกและทำให้ใสโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำต้องใช้เครื่องมือกลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวซ้ำอีก ดังนั้นวิธีไฟร์โพลิช ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการทำให้กระจกซีทได้รับการตกแต่ง โดยขัดผิดและทำให้ใสแล้ว หาใช่เป็นกระบวนการผลิตกระจกธรรมดาตามปกติดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะหากไม่ผ่านกระบวนการของไฟร์โพลิชก็คงเป็นกระจกธรรมดา เช่น วัตถุพยานหมาย วจ.1 ส่วนที่จำเลยโต้แย้งอีกข้อหนึ่งว่า การวินิจฉัยว่า แผ่นกระจกพิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทใด จะต้องถือตามคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรของสภาความร่วมมือทางศุลกากร กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยมตามความเห็นของ นายเอช อาซากุระ ผู้อำนวยการพิกัดศุลกากรของสภาซี.ซี.ซี. ที่ระบุว่ากระจกพิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 นั้น เห็นว่า การวินิจฉัยปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรที่โต้แย้งในคดีจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะที่มีผลใช้บังคับในขณะที่มีการนำเข้า ซึ่งในขณะนั้นได้แก่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ความเห็นของเจ้าหน้าที่หรือคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรของสภาความร่วมมือทางศุลกากรมิใช่กฎหมายเป็นเพียงแนวทางของการวินิจฉัยปัญหาเท่านั้น ไม่เป็นข้อลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวทั้งปัญหานี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า สินค้ากระจกแผ่นสีเทา (qrey sheet qlass) เช่นเดียวกับกระจกพิพาทจัดเข้าในพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ 70.06 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1417/2531 ระหว่าง บริษัทอี.พี.แอล จำกัด โจทก์กรมศุลกากร กับพวก จำเลย จึงต้องถือว่ากระจกพิพาทเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06
จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้ากระจกพิพาทที่โจทก์นำเข้าตามราคาแท้จริงในท้องตลาดเป็นการปฏิบัติโดยชอบแล้ว สำหรับราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้น จำเลยเห็นว่าเป็นราคาที่ต่ำไปจากราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของกองวิเคราะห์ราคาแล้ว ดังนั้น จึงต้องถือเอาราคาดังกล่าวตามบันทึกเอกสารหมาย ล.18 เป็นเกณฑ์เสียภาษี ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้เห็นว่า มูลค่าของสินค้าที่นำเข้ามีราคาเป็นจำนวนใด จะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 ที่นิยามคำว่า “ราคา”หรือ “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” ว่า “ราคาขายส่งเงินสดในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้ โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่นำของเข้า หรือส่งของออกแล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด” ดังนั้นที่กองวิเคราะห์ราคาได้กำหนดราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยสำหรับกระจกพิพาทไว้ จึงเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ ในการประเมินราคาเพื่อเรียกเก็บภาษี มิได้เป็นข้อตายตัวว่าจะต้องเป็นราคาดังกล่าวในขณะมีผู้นำเข้าเสมอไป แต่ได้กำหนดขึ้นเพื่อทราบราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในเบื้องแรกว่ามีราคาใดเกี่ยวกับราคากระจกพิพาทนี้โจทก์นำสืบว่าราคาของสินค้าที่แท้จริงต่ำกว่าราคาที่จำเลยประเมินไว้นายวันชัยเบิกความว่าราคาที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า ตามเอกสารหมาย จ.182 ถึง จ.199 ซึ่งนำเข้าระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2528ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2528 เป็นราคาเดียวกับที่โจทก์ได้แจ้งไว้ในใบกำกับสินค้าในขณะที่โจทก์ส่งกระจกพิพาทลงเรือดังปรากฏรายละเอียดในใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.140 ถึง จ.157 ทั้งนี้ในทางปฏิบัติผู้ขายในต่างประเทศจะส่งบัญชีราคาสินค้ามาให้โจทก์ตามที่ขอทราบราคาไป เมื่อโจทก์พอใจราคาแล้วก็จะสั่งซื้อและดำเนินการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ผู้ขาย หลังจากโจทก์ได้รับสินค้าแล้วจะชำระราคาให้แก่ผู้ขายโดยผ่านทางธนาคาร บัญชีราคาสินค้าที่นายวันชัยเบิกความถึงมีรายละเอียดตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมายจ.121 ถึง 126 ส่วนหลักฐานการชำระเงิน ปรากฏตามตั๋วแลกเงินและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.158 ถึง จ.175 คำเบิกความของนายวันชัยประกอบเอกสารที่ยกขึ้นกล่าวมาแล้ว เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์ได้สั่งซื้อกระจกพิพาทในราคาดังกล่าวจริง ไม่มีข้อที่จะโต้แย้งหรือมีเหตุสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวทำขึ้นไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีผู้เกี่ยวข้องและประโยชน์ได้เสียอีกหลายฝ่าย อาทิผู้รับขนทางทะเล และธนาคารตัวแทน ทั้งฝ่ายผู้ขายและฝ่ายผู้ซื้อ ทั้งนี้ราคาสินค้าตามที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าตั๋วแลกเงิน และใบเสร็จรับเงิน แล้วแต่ละกรณี จะเป็นข้อสำคัญที่ยันผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมิให้โต้เถียงในเรื่องราคาเป็นอย่างอื่นดังนั้น จึงเชื่อว่าราคาสินค้าที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า จึงน่าจะเป็นราคาที่แท้จริงและถูกต้องกว่าราคาที่กองวิเคราะห์ราคาได้พิจารณา และกำหนดเป็นราคาประเมินไว้ ที่จำเลยโต้เถียงอีกประการหนึ่งว่า โจทก์เคยยื่นบัญชีราคาสินค้า เอกสารหมาย ล.5 ไว้ต่อจำเลย เมื่อต่อมาไม่มีการแจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงราคา ย่อมถือว่าราคาสินค้ามีราคาเดิมตลอดมาและไม่เปลี่ยนแปลงราคานั้น เห็นว่า บัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.5โจทก์ได้เสนอให้จำเลยพิจารณาราคาไว้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2527โจทก์นำสินค้ากระจกพิพาทเข้าภายหลังอีกประมาณ 1 ปีต่อมา เมื่อได้ว่าราคาย่อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะของตลาด การที่โจทก์ไม่เสนอราคาที่เปลี่ยนแปลงต่อจำเลยไม่เป็นข้อผูกมัดว่า โจทก์จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น และราคาจะต้องตายตัวในราคานั้น เพราะไม่มีบทกฎหมายให้โจทก์ต้องปฏิบัติดังกล่าว การยื่นบัญชีราคาสินค้าไว้ต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณา เป็นการอำนวยความสะดวก หรือให้ข้อมูลแก่จำเลยล่วงหน้า ที่โจทก์จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ในการนำเข้าให้เป็นไปโดยรวดเร็ว ส่วนเหตุที่สินค้ากระจกพิพาทมีราคาต่ำลงนั้น โจทก์นำสืบนายพรชัย เอื้อสุวรรณกุลผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของโจทก์ว่า กรรมวิธีการผลิตกระจกต้องใช้น้ำมันดิบเป็นเชื้อเพลิง ในระหว่างปี 2524 ถึง 2528 ราคาน้ำมันดิบลดลงถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้ค่าระวางเรือลดลงในอัตราประมาณร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 40 รวมถึงวิธีการบรรจุสินค้าที่โจทก์อาจเลือกเพื่อประหยัดต้นทุนได้หลายวิธีดังที่นายวันชัยเบิกความ ราคากระจกในท้องตลาดทั่วไปจึงลดลงตาม ข้อนำสืบเช่นนี้มีเหตุผลและเป็นไปได้เมื่อพิจารณาประกอบถึงประกอบถึงการชำระราคาสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ ที่มีวิธีการชำระเงินผ่านธนาคารในรูปของการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต และอยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชำระเป็นราคาสินค้า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ฟังได้ว่า โจทก์สำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share