คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

น้ำมันปาล์ม ที่โจทก์นำเข้าได้ผ่านกระบวนการเท็กซ์เจอเรชั่น คือ นำเข้าเครื่องลดอุณหภูมิลงอย่างฉับพลันแล้วมีเครื่องคล้ายใบมีดปาด น้ำมันปาล์ม ให้สัมผัสผิว ท่อซึ่งเย็นจัดอันเป็นวิธีการปรับโครงสร้างน้ำมันปาล์ม ให้มีเนื้อละเอียด เนียน และสม่ำเสมอเป็นผลิตภัณฑ์ไขมันที่มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ มาก กว่าการเติมก๊าซไฮโดรเจนดังที่ระบุไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่15.12 ค. จึงเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.13 โจทก์ต้องเสียอากรร้อยละ 60 ของราคาสินค้าหรือกิโลกรัมละ 15 บาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันที่ 12มีนาคม 2524 โจทก์ซื้อน้ำมันปาล์มแข็งสกัดจากน้ำมันเมล็ดปาล์มจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ได้สำแดงรายการยื่นใบขนชำระภาษีในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.12 ค.แต่พนักงานของจำเลยมีคำสั่งว่าสินค้าของโจทก์จัดเข้าพิกัดประเภทที่ 15.13 ให้โจทก์วางหลักทรัพย์เป็นประกันค่าภาษีอากร ขอให้พิพากษาว่าจำเลยจัดพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าโจทก์เป็นการไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย และให้จำเลยคืนหลักทรัพย์แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า น้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าได้ผ่านกระบวนการที่มากขึ้นกว่า เติมก๊าซไฮโดรเจน จึงเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 15.13 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงินสดจำนวน 290,000 บาท และหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวน5 ฉบับตามฟ้องแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า สินค้าน้ำมันปาล์มแข็งที่โจทก์นำเข้าตามฟ้องจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทใด…
พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนายเชาว์น ศิริเชาวนิชการ ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความว่า น้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้านั้นใช้ในการผลิตสบู่ของโจทก์ บางส่วนขายให้แก่บริษัทผลิตเนยเทียมและโรงงานผลิตขนมปังด้วย โจทก์ผลิตสบู่โดยใช้น้ำมันปาล์มผสมไขมันวัว โซดาไฟเกลือ และน้ำ นำมาต้มให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต่อจากนั้นผสมน้ำหอมและสีตามสูตรออกมาเป็นสบู่ น้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าคือวัตถุพยานหมาย จ.11 จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.12 ค. อัตราอากรลิตรละ 1.32 บาท ส่วนน้ำมันปาล์มที่เข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.13 ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย จ.13 สามารถบริโภคได้ เพราะได้ผ่านกระบวนการเท็กซ์เจอเรชั่นโดยอัดอากาศเข้าไปเพื่อให้เป็นฟองฟูเรียกว่า ช๊อตเทนนิ่งแล้ว ฝ่ายจำเลยมีนายวิศิษฐ์ บำรุงกิจเป็นพยานเบิกความว่า โดยปกติน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้จากเมล็ดปาล์มจะมีลักษณะเป็นของเหลว ถ้าจะทำให้แข็งตัวจะต้องกำจัดกรด กำจัดสีและเติมไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อให้แข็งตัว แล้วจึงกำจัดกลิ่นโดยทำให้น้ำมันปาล์มมีความร้อนอุณหภูมิประมาณ 250 องศาเซลเซียสภายใต้สูญญากาศ แล้วค่อย ๆ ลดอุณหภูมิลง โดยผ่านท่อที่มีน้ำเลี้ยงจนถึงอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส น้ำมันปาล์มที่ผ่านกรรมวิธีข้างต้นมีลักษณะเป็นสีขาวเป็นก้อนแข็งตามปริมาณของไฮโดรเจนที่เติมเข้าไปให้จัดเข้าในพิกัดอัตราอากรประเภทที่ 15.12 ค. ขบวนกรรมวิธีต่อไปเพื่อที่จะทำให้โครงสร้างของน้ำมันปาล์มมีเนื้อละเอียดเนียนและสม่ำเสมอ เป็นผลิตภัณฑ์ไขมันที่มีคุณภาพดีซึ่งเรียกกันว่าShortcning โดยจะนำน้ำมันปาล์มซึ่งเก็บไว้ที่ถังพักน้ำมันที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ไปผ่านเครื่องชีลเลอร์ ซึ่งเป็นเครื่องลดอุณหภูมิฉับพลันและปรับโครงสร้างของเนื้อไขมันกลไกของเครื่องชีลเลอร์จะให้น้ำมันผ่านเข้าไปในท่อแล้วจะมีเครื่องคล้าย ๆ ใบมีดปาดน้ำมันให้ไปสัมผัสกับผิวท่อซึ่งเย็นจัด วิธีการนี้จะได้น้ำมันปาล์มชนิด Palm Kernel oil เรียกว่ากระบวนการเท็กซ์เจอเรชั่นจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.13 อัตราอากร 60% ของราคาสินค้าตามประกาศกรมศุลกากร เรื่อง แจ้งอัตราอากร เอกสารหมายจ.10 กองตรวจสินค้าขาเข้าของจำเลยได้ชักตัวอย่างสินค้าน้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าตามบัญชีราคาสินค้า เอกสารหมาย ล.1 ลำดับที่ 25,27, 29, 31, 33 และ 78 ไปให้พยานตรวจวิเคราะห์แล้ว จากการตรวจวิเคราะห์สรุปได้ว่าน้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการเท็กซ์เจอเรชั่นแล้ว ตามบันทึกข้อความฝ่ายอาหารกองวิเคราะห์สินค้า เอกสารหมาย ล.1 ลำดับที่ 80 ส่วนน้ำมันปาล์มแข็งวัตถุพยานหมาย จ.11 นั้น พยานว่าได้ตรวจดูด้วยตาเปล่าแล้วไม่เหมือนกับน้ำมันปาล์มสินค้าที่โจทก์นำเข้าทั้ง 6 ครั้ง เพราะมีลักษณะค่อนข้างแข็งและเนื้อไม่เนียน คงมีปัญหาต่อไปว่าน้ำมันปาล์มแข็งวัตถุพยานหมาย จ.11 เป็นสินค้าน้ำมันปาล์มชนิดเดียวกันกับที่โจทก์นำเข้าทั้ง 6 ครั้ง ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.2, จ.ล.3, จ.ล.4,จ.ล.5 และ จ.ล.6 หรือไม่ ได้ความจากนายเชาว์น ศิริเชาวนิชการผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ว่า ในการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มเข้าของโจทก์นี้ โจทก์จะแจ้งระบุคุณภาพของสินค้าไปยังผู้ขายต่างประเทศ ผู้ขายจะส่งตัวอย่างมาให้โจทก์ตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงจะสั่งซื้อโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งมีเงื่อนไขระบุว่าจะต้องมีการตรวจสอบสินค้าโดยสถาบันหรือบริษัทผู้มีอาชีพตรวจสอบสินค้าเสียก่อน ณประเทศผู้ขาย ใบรับรองดังกล่าวปรากฏตามหนังสือรับรองรายงานการตรวจสอบลักษณะคุณภาพน้ำมันปาล์มโดยบริษัท Calcb Brett ที่มีสำนักงานสาขาอยู่ทั่วโลกและที่สิงคโปร์ ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้ตรวจเอกสารดังกล่าวโดยละเอียดแล้วผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่า จุดละลายของน้ำมันอยู่ที่ 40.0องศาเซลเซียส ส่วนโครงสร้างเนื้อไขมันจะมีลักษณะอย่างใดไม่ปรากฏในเอกสารนี้ จึงเห็นได้ว่าจุดละลายของสินค้าน้ำมันปาล์มที่โจทก์สั่งเข้ามาตรงกับคำเบิกความของนายวิศิษฐ์ บำรุงกิจ พยานจำเลยผู้วิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าน้ำมันที่โจทก์นำเข้าว่าเป็นน้ำมันปาล์มที่ผ่านเครื่องชีลเลอร์แล้วและมีจุดหลอมเหลวประมาณ 40 องศาเซลเซียสนอกจากนี้ยังเบิกความว่าวัตถุพยานหมาย จ.11 ที่โจทก์อ้างส่งศาลไว้ไม่ใช่สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้า เอกสารหมาย จ.ล.1 ถึง จ.ล.6 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้ตรวจดูวัตถุพยานดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็งเนื้อไขมันหยาบไม่ละเอียดเนียนสม่ำเสมอซึ่งแตกต่างกับบันทึกของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เขียนด้วยหมึกสีแดงในบัญชีราคาสินค้าน้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าถึงลักษณะของสินค้าน้ำมันปาล์มว่าเป็นไขสีนวล ไขสีขาว ไขเหลวสีขาว ไขมันสีขาวไม่แข็ง และไขสีขาวข้นเอกสารหมาย ล.1 ลำดับ 25, 27, 29, 31, 33 และ 78 ตามลำดับ ในการบันทึกลักษณะของสินค้านี้นายเชาวน์ ศิริเชาวนิชการ ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว ทั้งยังได้เบิกความรับว่าวัตถุพยานหมาย จ.11 ขอมาจากโรงงานที่โจทก์สั่งซื้อ ไม่ใช่สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 6 ฉบับ กรณียังไม่เป็นที่แจ้งชัดว่าวัตถุพยานหมาย จ.11 เป็นน้ำมันปาล์มแข็งชนิดเดียวกับที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าน้ำมันปาล์มที่โจทก์นำเข้าได้ผ่านกระบวนการเท็กซ์เจอเรชั่นอันเป็นกระบวนการซึ่งมากไปกว่าที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.12 ค. โจทก์จะต้องเสียอากรตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 15.13 ร้อยละ 60ของราคาสินค้า หรือกิโลกรัมละ 15 บาท คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงินรวม 9,000 บาท

Share