แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2494 บัญญัติห้ามมิให้นำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนิยมคำว่าทองคำไว้ว่า “ทองคำ หมายความถึงเนื้อทองคำไม่ว่าจะเป็นแท่ง ก้อน แผ่น หรือรูปอื่น หรือผสมกับสิ่งอื่นใดด้วย แต่ไม่หมายความถึวเครื่องรูปพรรณทองคำซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย” ทองคำแผ่นของกลางทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดเท่ากันและมีตราประทับไว้เท่านั้น ทองคำแผ่นของกลางจึงไม่ใช่เครื่องรูปพรรณทองคำซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย ทองคำแผ่นของกลางจึงเป็นของต้องห้ามไม่ให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว การที่จำเลยรับทองคำแผ่นของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทองคำแผ่นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๗ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีผู้บังอาจนำทองคำแผ่นจำนวน ๕๑ แผ่น ราคา ๕๒,๕๓๒ บาท ๐๒ สตางค์ อันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดมิให้เข้าในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายและโดยเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง มีผู้แจ้งความนำจับ นำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยทองคำแผ่นดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยได้บังอาจนำทองคำแผ่นดังกล่าวซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต โดยมิได้ผ่านศุลกากร และโดยเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด หรือมิฉะนั้นจำเลยได้บังอาจช่วยซ่อนเร้น ซื้อ หรือรับไว้ซึ่งทองคำแผ่นของกลางอันเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทองคำแผ่นที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตและโดยเจตนาหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๒๗ ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๙ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓,๔ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๕,๖,๗,๘,๙ และริบของกลาง กับให้จ่ายเงินสินบนนำจับ และเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งความนำจับและเจ้าพนักงานผู้จับด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยรับทองคำแผ่นของกลางไว้โดยรู้แล้วว่าเป็นของที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ให้ปรับจำเลย ๒๑๐,๑๒๘ บาท ๐๘ สตางค์ แต่มีเหตุบรรเทาโทษเพราะคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงปรับจำเลย ๑๔๐,๐๘๕ บาท ๓๘ สตางค์ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙,๓๐ ทองคำแผ่นของกลางให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลาง และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๕,๖,๗ และ ๘
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษา
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะที่ว่า ทองคำแผ่นของกลางไม่ใช่เป็นของต้องห้ามต้องจำกัด เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่รับ เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ ว่า จำเลยได้บังอาจรับไว้ซึ่งทองคำแผ่นของกลาง โดยจำเลยรู้แล้วว่าเป็นทองคำแผ่นที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาต
ในปัญหาที่ว่า ทองคำแผ่นของกลางเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าทองคำแผ่นของกลางเป็นของต้องห้ามต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓,๔ ซึ่งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวห้ามมิให้นำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนิยามคำว่าทองคำไว้ว่า “ทองคำ หมายความถึงเนื้อทองคำไม่ว่าจะเป็นแท่ง ก้อน แผ่น หรือรูปอื่น หรือผสมกับสิ่งอื่นใดด้วย แต่ไม่หมายความถึวเครื่องรูปพรรณทองคำซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย”
ทองคำแผ่นของกลางจึงเป็นของต้องห้ามไม่ให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓,๔ ทั้งทองคำแผ่นของกลางทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดเท่ากันและมีตราประทับไว้เท่านั้น ทองคำแผ่นของกลางจึงไม่ใช่เครื่องรูปพรรณทองคำซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทองคำแผ่นของกลางจัดอยู่ในประเภทที่ ๗๑.๐๗ ก. ตามบัญชีพิกัดอัตราอากรขาเข้าท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งไม่ต้องเสียอากร แต่ต้องห้ามไม่ให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๔ นั้น เป็นการวินิจฉัยว่าทองคำแผ่นของกลางเป็นของต้องจำกัดมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓, ๔ ตามฟ้อง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องดังที่จำเลยฎีกา จำเลยรับทองคำแผ่นของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทองคำแผ่นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ไดรับรับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
(มงคล วัลยะเพ็ชร์ ยงยุทธ เลอลภ ผสม จิตรชุ่ม)