คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 นอกจากจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าอัตราไว้ในมาตรา 5 และมีบทกำหนดโทษฝ่าฝืนในมาตรา 16 แล้ว ยังมีบทมาตราอื่น ๆ ที่แสดงให้เป็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้เช่านาอีกหลายกรณี
การที่จำเลยเต็มใจให้ค่าเช่านาเกินกว่าอัตราที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 กำหนดไว้ และโจทก์ผู้ให้เช่าก็ตกลงยอมรับนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้จำเลยผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระ จึงไม่เป็นการผูกพันจำเลยตามนัย มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ที่จะต้องชำระค่าเช่านาให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่านาจากโจทก์ ๒๔ ไร่ ตกลงคิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกปีละ ๓๕๐ ถึง กำหนดค่าเช่า ๑ ปี ครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ๓๕๐ ถึง หรือเป็นเงิน คิดราคาข้าวเปลือกถังละ ๑๕ บาท เป็นเงิน ๕,๒๕๐ บาท จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ๓๕๐ ถึง หากไม่สามารถชำระเป็นข้าวเปลือกได้ก็ให้ชำระเงิน ๕,๒๕๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่านาโจทก์ แต่ได้มอบที่นาเช่าให้ผู้อื่นทำนาที่เช่าเป็นนาดอน ทำนาไม่ได้ผล ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ฝนแล้ง ได้ข้าวเปลือกเพียง ๕๕๐ ถึง เฉลี่ยแล้วได้ไร่ละประมาณ ๒๒ ถัง ปกตินาโจทก์จะได้ข้าเปลือกไร่ละประมาณ ๒๐ – ๒๕ ถึงต่อไป การเช่านารายนี้อยู่ใต้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ ตามพระราชบัญญัตินี้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่านาเป็นข้าวเปลือกได้เพียงไร่ละ ๓ ถังต่อปี นา ๒๔ ไร่คิดค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกได้ ๗๒ ถึงต่อปีเท่านั้น โจทก์เรียกค่าเช่าปีละ ๓๕๐ ถึง เป็นการเรียกเกิน ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ต้นปี ๒๕๑๖ ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ ๑,๒๒๐ บาท จำเลยให้นางอิ่ม แย้มสมบูรณ์ ขายข้าวเปลือก ๒๕๐ ถัง ได้เงิน ๓,๐๕๐ บาท นางอิ่มชำระเงินจำนวนนี้แทนจำเลยให้โจทก์รับไปทั้งหมดเป็นค่าเช่านาแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังเก็บค่าเช่าจากผู้ที่ทำนาแทนจำเลยไปอีกเป็นข้าวเปลือก ๓๕ ถึง คิดแล้วโจทก์ได้รับค่าเช่านาเกินกว่าสิทธิที่ตนจะได้รับตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าเช่านาอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งบัญญัติได้เรียกเก็บค่าเช่านาที่มีผลทำนาได้ข้าวเปลือกโดยปกติในปีหนึ่งไร่ละสี่สิบถังขึ้นไป ได้ไม่เกินไร่ละสิบถังหรือจะเรียกค่าเช่าเป็นเงินก็เรียกเก็บได้ไม่เกินราคาของข้าวตามที่มีอยู่ในท้องที่ขณะที่ต้องชำระค่าเช่า สัญญาเช่านาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์เรียกเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องร้อยเรียกค่าเช่ามาจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เรียกค่าเช่าเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา ๕(๑) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ และมาตรา ๑๖ บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับ สัญญาเช่าจึงตกเป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านาที่จำเลยเช่า จำเลยทำนาปีละ ๒ ครั้ง สัญญาเช่าเป็นโมฆะทั้งหมด จะแยกเป็นโมฆะเฉพาะค่าเช่าส่วนที่เกินหาได้ไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๔๙๓ นอกจากจะมีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าอัตราไว้ใในมาตรา ๕ และมีบทกำหนดโทษฝ่าฝืนในมาตรา ๑๖ แล้ว ยังมีบทมาตราอื่น ๆ ที่แสดงให้เป็นได้ชัดว่ามุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้เช่านาอีกหลายกรณี เช่น มาตรา ๖ ห้ามมิให้เรียกเก็บหรือเก็บค่าเช่านาล่วงหน้า จะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเสร็จการทำนา มาตรา ๗ ถ้าในปีใดการทำนาไม่ได้ผลสมบูรณ์โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้เช่า ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าเช่าและโดยเฉพาะในมาตรา ๘ ที่ว่า “การตกลงใด ๆ ดังต่อไปนี้ ไม่เป็นการผูกพันคู่กรณีในการเช่านา……………… (๒) การให้ผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระใด ๆ ซึ่งตามกฎหมายผู้เช่าไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระนั้น ……………” ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าการที่จำเลยคดีนี้เต็มใจให้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าเป็นข้าวเปลือก ๓๕๐ ถังต่อปี และโจทก์ผู้ให้เช่าก็ตกลงยอมรับ ถือได้ว่าเป็นการให้จำเลยผู้เช่ามีหน้าที่หรือรับภาระซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่ต้องมีหน้าที่หรือต้องรับภาระ จึงไม่เป็นการผูกพันจำเลยตามนัย มาตรา ๘ ที่จะต้องชำระค่าเช่านาให้โจทก์ตามฟ้อง และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเช่ายังค้างชำระหรือไม่
พิพากษายืน

Share