คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส.ภริยาโจทก์ได้ขายที่ดินให้แก่ ก. กับพวก ไปโดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม โจทก์ฟ้อง ส. และ ก.กับพวก เป็นคดีแรก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเสีย ปรากฏว่า ก.กับพวกขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่าง ส.กับ ก.และพวก เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย และเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย ระหว่าง ก. กับพวก กับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ศาลฎีกาพิพากษายืน ขณะที่คดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 และที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้ทำลายนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองเสีย ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้อง ส.กับพวก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ ในคดีแรกนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว เมื่อในที่สุดศาลพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคแรก การที่ ก. กับพวก โอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก็ดีหรือจำเลยที่ 1 ขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ดีเป็นอันใช้ยันโจทก์ไม่ได้ เพราะการขายต่อ ๆ มา จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะโอนขายได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีอำนาจดีกว่าผู้โอน เพราะนิติกรรมอันเดิมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกเสียแล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1336 ได้ กรณีเช่นนี้ จะนำมาตรา 1299 และ 1300 มาปรับแก่คดีหาได้ไม่ ส่วนมาตรา 1329 นั้น ต้องได้ความว่า ได้ทรัพย์สินมาในระหว่างที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรม ถ้าได้มาภายหลังบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์กับนางสำเภา รักษ์เจริญ เป็นสามีภรรยากันโดยจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ นางสำเภา รักษ์เจริญ ภรรยาโจทก์ได้ทำสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินสินสมรสให้แก่นายการิม เกิดอยู่ นายมะหะหมุด เกิดอยู่ และนายไฮดิน เกิดอยู่ โดยมีได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นสามี โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาทำลายนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าว คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ปรากฏว่าผู้ซื้อทั้งสามได้ขายได้ขายที่ดินรายพิพาทให้นายสหาก ขำวิลัย จำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ โจทก์ได้ขอให้ศาลเรียกนายสหาก ขำวิสัย เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลมีคำสั่งอนุญาต และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายฉบับลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ และให้ทำลายสัญญาการซื้อขายฉบับลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๗ ระหว่างนายการิม เกิดอยู่ นายมะหะหมุด เกิดอยู่ นายไฮดิน เกิดอยู่ ผู้ขาย จำเลยที่ ๑ คดีนี้ผู้ซื้อ ศาลได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ ของศาลจังหวัดนครนายก ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๑ คดีนี้ได้มีเจตนาทุจริต สมคบกับจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจดทะเบียนขายฝากที่ดินรายพิพาทซึ่งจำเลยรู้แล้วว่าไม่มีสิทธิที่จะขายการฝากได้ ปรากฏตามสัญญาขายฝากฉบับลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธื ๒๕๑๐ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นคดีอาญา ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๘๙/๒๕๑๐ จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิที่จะทำนิติกรรมโอนสิทธิในที่ดินรายพิพาทไปยังจำเลยที่ ๒ ได้ โจทก์ได้ส่งคำบอกล้างนิติกรรมไปยังจำเลยที่ ๒ แล้ว ขอให้ศาลพิพากษาทำลายนิติกรรมการขายฝากฉบับลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ของจำเลยทั้งสอง และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกถอนชื่อจำเลยที่ ๒ ออกจากโฉนดที่พิพาท และใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสำเภา รักษ์เจริญ ต่อไป และให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกัน ใจความสำคัญว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยทำหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก โดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ และได้รับเงินค่าขายฝากเป็นเงิน ๖๗,๘๐๐ บาทครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยจำเลยที่ ๑ มิได้บอกให้จำเลยที่ ๒ ทราบถึงเรื่องที่จำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ ของศาลจังหวัดนครนายก และเป็นเวลาก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าว และศาลจังหวัดนครนายกได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชนะคดีแพ่งดังกล่าวแล้วจำเลยที่ ๑ ขายฝากที่พิพาทโดยสุจริตตามสิทธิที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การขายฝากจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนายการิม เกิดอยู่กับพวก ภายหลังจากการจดทะเบียนขายฝากระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการขายฝากระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี และขณะนั้นโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท จำเลยที่ ๑ ได้ถูกเรียกเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ และถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๒ในคดีอาญา ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๘๙/๒๕๑๐ จริงโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่มิได้ขออายัดที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพร้อม คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด เป็นข้อแพ้ชนะโดยไม่ต้องสืบพยานว่า ตามที่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๒/๒๕๐๗ หมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ ว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เป็นโมฆะ และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๗ ให้ถอนชื่อจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ ในคดีนั้น และนายสหากจำเลยออกจากโฉนดดังกล่าว และวินิจฉัยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๘๙/๒๕๑๐ หมายเลขแดงที่ ๔๖๖/๒๕๑๐ ว่านายสหากจำเลยที่ ๑มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ นั้น จะมีผลทำให้นายยูซบจำเลยที่ ๒ ได้รับกรรมสิทธิ์ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยขอสละข้อต่อสู้นอกจากนี้ทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝาก ฉบับลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ที่จำเลยทั้งสองทำไว้ ให้ถอนชื่อนายยูซบ สุขถาวร จำเลยที่ ๒ ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๖๘ ตำบลบึงสาร อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และให้ใส่ชื่อนายจรูญ รักษ์เจริญ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสำเภา รักษ์เจริญ ในโฉนดนั้นต่อไป
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
คดีนี้สืบเนื่องจากนางสำเภา รักษ์เจริญ ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจรูญ รักษ์เจริญ โจทก์คดีนี้ได้ขายที่ดินสินสมรสให้แก่นายการิม เกิดอยู่ กับพวก ๓ คน โดยนายจรูญ รักษ์เจริญ สามีมิได้ให้ความยินยอม นายจรูญ รักษ์เจริญ จึงเป็นโจทก์ฟ้องนางสำเภา รักษ์เจริญ ภรรยาและนายการิม เกิดอยู่ กับพวก รวม ๔ คนเป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายนั้น ปรากฏตามคำให้การของนายการิม เกิดอยู่ กับพวก ว่าได้ขายที่พิพาทให้ผู้มีชื่อไปแล้ว โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายสหาก ขำวิลัยเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า นิติกรรมซื้อขายที่พิพาทตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เป็นโมฆะ และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๗ ให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ กับจำเลยร่วมออกจากโฉนด ให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในโฉนดนั้นต่อไป และศาลฎีกาพิพากษายืน ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครนายกหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา นายสหาก ขำวิลัย ได้ขายฝากที่พิพาทให้แก่นายยูซบ สุขภาวร และที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธ์ของนายยูซบ สุขภาวร แล้ว โจทก์จึงฟ้องนายสหาก ขำวิลัย และนายยูซบ สุขถาวร เป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีอาญา ในข้อหาฉ้อโกงเจ้าหนี้และยักยอกทรัพย์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง และศาลฎีกาพิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องนายยูซบ สุขภาวร จำเลยที่ ๒ ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาของศาลจึงหวัดนครนายกหมายเลขแดงที่ ๔๖๖/๒๕๑๐
วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ฟ้องนายสำเภา รักษ์เจริญ กับพวก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายกรรมสิทธิ์ที่ดินสินสมรส โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ อันเป็นนิติกรรมโมฆียะตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๐๘ ของศาลจังหวัดนครนายก นั้นถือได้ว่าโจทก์บอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว และเมื่อในที่สุดศาลได้พิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘ วรรคแรก การที่ นายการิม เกิดอยู่ กับพวก จำเลยในคดีดังกล่าว โอนขายที่ดินให้นายสหาก ขำวิสัย(จำเลยที่ ๑) อันเป็นนิติกรรมอันที่ ๒ โจทก์จึงเรียกนายสหาก ขำวิสัย (จำเลยที่ ๑) เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่งดังกล่าวก็ดี หรือนายสหาก ขำวิลัย จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินพิพาทในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาให้แก่ นายยูบ สุขภาวร จำเลยที่ ๒ อันเป็นนิติกรรมอันที่ ๓ ก็ดี เป็นอันใช้ยันโจทก์ไม่ได้ เพราะการโอนขายต่อ ๆ มา จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจที่จะโอนขายได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีอำนาจดีกว่าผู้โอน เพราะนิติกรรมอันเดิมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกเสียแล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินตามมาตรา ๑๓๓๖ ได้ กรณีเช่นนี้ จะนำมาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๐ มาปรับแก่คดีหาได้ไม่ ส่วนมาตรา ๑๓๒๙ นั้น ต้องได้ความว่า ได้ทรัพย์สินมาในระหว่างที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรม จึงจะได้รับคุ้มครองตามมาตรานี้ ถ้าได้มาภายหลังบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว อย่างเช่นจำเลยที่ ๒ คดีนี้ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๒๙ ฎีกาของจำเลยที่ ๒ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

(แผ้ว ศิวรบวร สัญชัย สัจจวานิช สนิท บริรักษ์)

Share