แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่ง มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 340, 340 ตรี, 357 ให้จำเลยทั้งสี่คืนเงิน 40 บาท ให้ผู้เสียหายที่ 2 ริบมีดสแตนเลสและท่อนไม้ของกลาง และบวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 864/2552 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร แต่ปฏิเสธในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์
นางสาวบุญตา ผู้เสียหายที่ 1 และนายแล ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าเสียหายที่จำเลยดังกล่าวร่วมกันดัดแปลงและเปลี่ยนสีรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งเป็นของผู้ร้องที่ 1 ทำให้ต้องนำรถไปซ่อมใหม่ให้เหมือนเดิม และต้องไปทำคู่มือจดทะเบียนเล่มใหม่แทนเล่มเดิมที่จำเลยดังกล่าวเอาไป รวมเป็นเงิน 3,000 บาท ส่วนผู้ร้องที่ 2 เสียค่ารักษาพยาบาลจากการที่จำเลยดังกล่าวร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 33,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 24 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 864/2552 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 6 เดือน ริบมีดสแตนเลสและท่อนไม้ของกลาง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงิน 40 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 3,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกและยกฟ้องโจทก์กับยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 24 ปี ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดคืนเงิน 40 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะชิงปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายที่ 2 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 ในการกระทำความผิดดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันใช้มีดและท่อนไม้ของกลางเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายและศีรษะของผู้เสียหายที่ 2 จนได้รับอันตรายสาหัส แล้วจำเลยที่ 4 รับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานรับของโจร จำเลยที่ 4 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 4 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานี้เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 และนายอัษฎาวุธแล้ว ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 3 ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ต้องพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยกำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองมานั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 3,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และร่วมกันชำระเงิน 30,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ